โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
หากราคายังไม่ผ่านโซน 1,730-1,741 ดอลลาร์ต่อออนซ์ การถือสถานะขายสามารถรอปิดสถานะทำกำไรในบริเวณ 1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ เสี่ยงเปิดสถานะซื้อบริเวณแนวรับ แต่หากหลุดให้ตัดขาดทุน โดยเน้นการลงทุนระยะสั้นและไม่ควรถือสถานะหลายวัน
แนวรับ : 1,703 1,685 1,669 แนวต้าน : 1,741 1,759 1,776
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 7.93 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าในระหว่างการซื้อขายในตลาดเอเชีย ราคาทองคำจะพุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดบริเวณ 1,759.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์จากแรงซื้อทองคำกายภาพ รวมถึงการชะลอการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอแบทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี อย่างไรก็ดี ราคาทองคำเริ่มลดช่วงบวกในช่วงตลาดยุโรป และปรับตัวลงแรงต่อเนื่องในช่วงตลาดสหรัฐ เพราะทองคำยังคงเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ขานรับการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีเกินคาด อาทิ การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค. รวมไปถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐทั้งของมาร์กิตและ ISM ที่ออกมาดีเกินคาดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ดัชนีดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐอีกด้วย ประกอบกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้นอย่างมาก โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้น 603.14 จุด หรือ +1.95%, ดัชนี S&P500 ปิด +2.38% และดัชนี Nasdaq ปิด +3.01% หลังสหรัฐอนุมัติการใช้วัคซีนต้าน COVID-19 ของJ&J รวมถึงการอ่อนตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐช่วยคลายความวิตกในตลาดหุ้นเพิ่มเติม สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งบั่นทอนความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นั่นทำให้ราคาทองคำอ่อนตัวลงมาปิดตลาดในแดนลบเป็นวันทำการที่ 3 ติดต่อกัน ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -9.03 ตัน ขณะที่เช้านี้ ราคาร่วงลงต่อทำระดับต่ำสุดของปีนี้ครั้งใหม่บริเวณ 1,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์จึงแนะนำให้นักลงทุนลงทุนด้วยความระมัดระวัง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยการสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจาก IBD/TIPP ของสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคาทองคำไม่สามารถกลับขึ้นยืนเหนือ 1,730-1,741 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงสู่บริเวณ 1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตามในโซนแนวรับ ต้องจับตาแรงซื้อเก็งกำไรที่อาจเพิ่มสูงขึ้น แต่หากสามารถยืนได้ราคาอาจดีดตัวขึ้นทดสอบโซน แนวต้านที่ 1,741-1,759 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน :
หากยังไม่สามารถผ่าน 1,730-1,741 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ เปิดสถานะขายเพื่อลงทุนระยะสั้น (ตัดขาดทุนหากผ่าน 1,759 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทยอยเข้าซื้อคืนเมื่อราคาอ่อนตัวลงไม่หลุด 1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนไม่อยู่สามารถถือสถานะขายต่อ
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) WHO เผยผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ครั้งแรกรอบ 7 สัปดาห์ แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าแผนกโรคอุบัติใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ได้เพิ่มขึ้นทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นครั้งแรกในรอบ 7 สัปดาห์ “เราจำเป็นที่จะต้องส่งคำเตือนออกไปว่า ไวรัสนี้จะกลับมาเพิ่มขึ้น ถ้าเรายอมปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น” แพทย์หญิงแวน เคอร์โคฟกล่าว ทางด้านนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง แต่ก็ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย นายแพทย์ทีโดรสเรียกร้องให้ประเทศต่างๆอย่าการ์ดตกในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19
- (-) ซีอีโอ “จอห์นสัน” ชูวัคซีนบริษัทช่วยลดการระบาดของโควิด-19 นายอเล็กซ์ กอร์สกี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) กล่าวว่า วัคซีนของบริษัทจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมทั้งลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งนี้ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันระบุว่าวัคซีนเพียงโดสเดียวของบริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งจำเป็นต้องฉีด 2 โดส อย่างไรก็ดี ผลการทดลองพบว่า วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันมีประสิทธิภาพ 66% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งต่ำกว่าวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งมีประสิทธิภาพ 95%
- (-) สหรัฐเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนม.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.521 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2545 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.8% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนธ.ค.
- (-) ดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐยังคงขยายตัวในเดือนก.พ. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 58.6 ในเดือนก.พ. จากระดับ 59.2 ในเดือนม.ค.
- (-) ISM เผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบ 3 ปีในเดือนก.พ. สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐพุ่งสู่ระดับ 60.8 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2561 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.9 จากระดับ 58.7 ในเดือนม.ค.
- (-) ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 603.14 จุด รับข่าววัคซีน,แผนกระตุ้นศก.คืบหน้า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ (1 มี.ค.) ทำสถิติทะยานขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2563 หลังสหรัฐอนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,535.51 จุด พุ่งขึ้น 603.14 จุด หรือ +1.95% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,901.82 จุด เพิ่มขึ้น 90.67 จุด หรือ +2.38% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,588.83 จุด เพิ่มขึ้น 396.48 จุด หรือ +3.01%
- (-) ดอลล์แข็งค่า รับข้อมูลศก.สดใส-แผนกระตุ้นศก.คืบหน้า ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มี.ค.) ขานรับความข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส รวมทั้งความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.19% แตะที่ 91.0406 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.81 เยน จากระดับ 106.61 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9151 ฟรังก์ จากระดับ 0.9090 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2652 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2703 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2046 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2078 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3922 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3945 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7774 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7711 ดอลลาร์สหรัฐ
- (+/-) อังกฤษคืบหน้าฉีดวัคซีนโควิดมากสุดในยุโรป หลังฉีดเข็มแรกแล้วกว่า 20 ล้านคน ชาวอังกฤษจำนวน 20.09 ล้านคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกแล้ว ขณะที่อีกเกือบ 800,000 คนได้รับวัคซีนครบสองโดสเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าอังกฤษมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากกว่าหลายประเทศในยุโรป นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า ความคืบหน้าดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จครั้งใหญ่ของประเทศ และแสดงความชื่นชมในความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการแพทย์ แรงงาน อาสาสมัคร และกองทัพของอังกฤษ