โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
ความแข็งแกร่งของราคาทองคำและแรงซื้อน้อย รอจังหวะการอ่อนตัวลงของราคาค่อยเข้าซื้อหรือราคาทองคำไม่สามารถยืน 1,740-1,744 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ให้แบ่งทองคำออกขายเพื่อทำกำไรบางส่วน แต่หากผ่านได้ให้ชะลอการขายออกไป
แนวรับ : 1,719 1,707 1,693 แนวต้าน : 1,744 1,759 1776
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.34 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อเก็งกำไร ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ระดับ 1.591% วานนี้ โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 1.647% ในวันศุกร์ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ระมัดระวังในการซื้อขายก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีสร้างแรงหนุนให้กับทองคำในฐานะสินทัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของทองคำเมื่อคืนนี้ยังอยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ การเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ที่ดีดตัวขึ้น 5.3 จุด สู่ระดับ 17.4 ในเดือนมี.ค. แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2020 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 15.0 ประกอบกับดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 6 จากแรงบซื้อหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งบั่นทอนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากกองทุน SPDR ที่ยังคงถือครองทองลดลงอีก -1.75 ตันสู่ระดับ 1,050.32 ตัน ทำให้ในปี 2021 กองทุน SPDR ถือครองทองลดลงแล้วถึง -120.42 ตัน สะท้อนกระแสเงินทุนที่ยังคงไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำซึ่งส่งผลเชิงลบต่อราคาทองคำ สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ยอดค้าปลีก, อัตราการใช้กำลังการผลิต, การผลิตภาคอุตสาหกรรม, สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค. โดย NAHB
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคาทองคำปรับตัวลงมาพอเข้าใกล้โซนแนวรับ 1,721-1,719 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจมีแรงดีดกลับสั้นๆ เบื้องต้นอาจต้องระวังแรงขายกลับลงมาอีกครั้งหากราคายังไม่มีแรงซื้อมากพอหรือมีปัจจัยใหม่มาดันราคาขึ้น โดยประเมินแนวต้านที่ 1,740-1,744 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
รอจังหวะการเปิดสถานะซื้อ โดยอาจใช้บริเวณ 1,721-1,719 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และตัดขาดทุนหากหลุด 1,707 ดอลลาร์ต่อออนซ์ลงมา และสำหรับนักลงทุนที่ถือสถานะซื้ออยู่ แนะนำทยอยแบ่งปิดสถานะทำกำไรโซนราคา 1,740-1,744 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไป
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) องค์การยาแห่งยุโรปเตรียมประชุมพิเศษพฤหัสบดีนี้ หวังหาข้อสรุปต่อวัคซีนแอสตร้าฯ องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) แถลงในวันนี้ว่า EMA จะทำการพิจารณาทบทวนข้อมูลในวันพรุ่งนี้เกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย นอกจากนี้ EMA จะจัดการประชุมวาระพิเศษในวันพฤหัสบดีนี้เพื่อหาข้อสรุปต่อรายงานที่ระบุว่าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- (+) ฝรั่งเศสระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ รอผลประเมินจาก EMA พรุ่งนี้ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประกาศในวันนี้ว่า ฝรั่งเศสจะระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อรอการประเมินความปลอดภัยจากองค์การยาแห่งยุโรป (EMA) ในวันพรุ่งนี้ หลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย “เราได้ตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพื่อเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้าตามนโยบายเกี่ยวกับยุโรปของเรา และเราจะกลับมาฉีดวัคซีนดังกล่าวอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หาก EMA ให้คำแนะนำในเชิงบวกเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้” ปธน.มาครงกล่าว
- (+) ด่วน! เยอรมนีประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ หวั่นเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เยอรมนีเป็นประเทศล่าสุดในสหภาพยุโรป (EU) ที่ประกาศระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยให้มีผลในทันที ท่ามกลางความกังวลหลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน “หลังจากที่มีรายงานใหม่เกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองที่เชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนในเยอรมนีและยุโรป ทางสถาบันพอล เออร์ลิช ก็ได้แถลงถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสืบค้นในเรื่องนี้” แถลงการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีระบุ กระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีแถลงว่า การระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถือเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้า และเป็นไปตามคำแนะนำของสถาบันพอล เออร์ลิช ซึ่งเป็นองค์กรกำกับนโยบายวัคซีนแห่งชาติของเยอรมนี
- (-) เฟดนิวยอร์คเผยดัชนีภาคการผลิตดีดตัวสูงเกินคาดในเดือนมี.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ดีดตัวขึ้น 5.3 จุด สู่ระดับ 17.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2563 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 15.0 ดัชนีอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก ดัชนีได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่การจ้างงานมีเสถึยรภาพ
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 174.82 จุด รับความหวังศก.ฟื้นตัว-จับตาประชุมเฟด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (15 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มธุรกิจโรงแรม ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,953.46 จุด เพิ่มขึ้น 174.82 จุด หรือ +0.53% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,968.94 จุด เพิ่มขึ้น 25.60 จุด หรือ +0.65% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,459.71 จุด เพิ่มขึ้น 139.84 จุด หรือ +1.05%
- (-) ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก นักลงทุนจับตาประชุมเฟด ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.17% สู่ระดับ 91.8287 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.14 เยน จากระดับ 109.05 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2473 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2467 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.9281 ฟรังก์ จากระดับ 0.9295 ฟรังก์ ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1925 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1950 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3891 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3923 ดอลลาร์
- (+/-) ที่ปรึกษาทำเนียบขาวยอมรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อ ความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดเงินเฟ้อจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน “ใช่ มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดเงินเฟ้อ ซึ่งเรากำลังจับตาดูอยู่ โดยการลงทุนทางเศรษฐกิจใดๆก็ตาม จะทำให้เกิดความเสี่ยงในบางด้านเสมอ แต่ความเสี่ยงที่ใหญ่กว่านั้นคือ การที่เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เพียงพอเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ” นางเซซิเลีย เราส์ ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าว ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว