GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

วิเคราะห์ราคาทองคำ 11 พ.ค.64(ภาคเช้า) by YLG

262

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ :

อาจรอเปิดสถานะซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงมาใกล้ 1,820-1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทยอยปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไรหากราคาทองคำไม่ผ่าน 1,845-1,847 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,815 1,799 1,782  แนวต้าน : 1,847 1,860 1,876

จจัยพื้นฐาน :

- Advertisement -

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น  3.78 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยราคาทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์  หลังการเปิดเผยตัวเลขในตลาดแรงงานสหรัฐที่แย่เกินคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า  “ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะไม่เร่งรีบในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลด QE”  นอกจากนี้สกุลเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันเพิ่ม  จากการแข็งค่าของสกุลเงินปอนด์จากแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลังจากอังกฤษเตรียมประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป  ขณะที่การลงประชามติของสกอตแลนด์เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้  ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดที่ 90.042 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนทองคำ  ประกอบกับเกิดการคาดการณ์ที่ว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐจะพุ่งสูงขึ้น  สะท้อนจากความคาดหวังเงินเฟ้อในอีก 10 ปี (10 year breakeven inflation rate)ที่พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.54%  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2013  สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีติดลบมากขึ้นสู่ระดับ -0.91% ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยเพิ่มเติม  ปัจจัยที่กล่าวมาช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนครั้งใหม่บริเวณ  1,845.25 ดอลลาร์ต่อออนซ์ก่อนจะมีแรงขายทำกำไรสลับออกมา  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง  สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจขนาดเล็กจาก NFIB และตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOLTS Job Openings)ของสหรัฐ

จจัยทางเทคนิค :

ราคาทองคำพยายามทรงตัวเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาโซนแนวรับ 1,820-1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาสามารถยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ มีแนวโน้มขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,845-1,847 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าไม่สามารถผ่านแนวต้านแรกได้ จะเกิดแรงขายออกมา โดยมีแนวรับสำคัญอยู่บริเวณ 1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์

กลยุทธ์การลงทุน :

แนะนำเปิดสถานะซื้อในบริเวณ 1,815-1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ลดพอร์ตการลงทุนหากราคาหลุด 1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์)และเมื่อราคาปรับตัวขึ้นทยอยปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไรหากราคาทองคำไม่ผ่าน 1,845-1,847 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) อังกฤษประชุมครม.วันนี้ คาดไฟเขียวผ่อนคลายล็อกดาวน์เริ่ม 17 พ.ค.  สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเตรียมประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในอังกฤษ โดยคาดว่าคณะรัฐมนตรีอังกฤษภายใต้การบริหารของนายจอห์นสันจะประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป และเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้เป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ผู้ที่เดินทางมายังประเทศอังกฤษจะยังต้องกักตัวและเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก็ตาม
  • (+) Sentix เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยูโรโซนพุ่งเกินคาดในเดือนพ.ค.  สถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนพุ่งขึ้นในเดือนพ.ค.แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2561 ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง  ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 21.0 จากระดับ 13.1 ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 14.0
  • (+) WHO เตือนไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดียเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพระดับโลก  องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงในวันนี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) ได้ถูกจัดชั้นให้เป็นไวรัส “สายพันธุ์ที่สร้างความวิตกกังวล” ซึ่งบ่งชี้ว่าไวรัสดังกล่าวได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพในระดับโลก  WHO ระบุว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียมีการแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และมีหลักฐานแสดงว่าไวรัสดังกล่าวสามารถหลบเลี่ยงวัคซีน
  • (+) ดอลล์อ่อน เหตุตัวเลขจ้างงานซบลดคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 พ.ค.) เนื่องจากตัวเลขจ้างงานเดือนเม.ย.ของสหรัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ได้ลดแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% แตะที่ 90.2155 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9007 ฟรังก์ จากระดับ 0.9010 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2099 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2141 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.82 เยน จากระดับ 108.61 เยน  ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2144 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2165 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.4134 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3996 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7842 ดอลลาร์สหรัฐ
  • (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 34.94 จุด นลท.ขายหุ้นเทคโนฯเหตุวิตกเงินเฟ้อ  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (10 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อได้ผลักดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพุธนี้ ซึ่งหากตัวเลข CPI พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อสกัดเงินเฟ้อ  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,742.82 จุด ลดลง 34.94 จุด หรือ -0.10% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,188.43 จุด ลดลง 44.17 จุด หรือ -1.04% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,401.86 จุด ลดลง 350.38 จุด หรือ -2.55%
  • (-) แหล่งข่าวเผยสหรัฐ-อิหร่านคืบหน้าในการเจรจายกเลิกมาตรการคว่ำบาตร  แหล่งข่าวระบุว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐและอิหร่านเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งนี้ สหรัฐและอิหร่านได้เจรจาทางอ้อมที่กรุงเวียนนาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนตัวก่อนหน้านี้  แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันทางอ้อมนับตั้งแต่ต้นเดือนนี้ โดยมีอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติสมาชิกในข้อตกลงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจา ซึ่งหากการเจรจายังคงมีความคืบหน้าต่อไป การบรรลุข้อตกลงในเดือนนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ โดยสหรัฐจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ขณะที่อิหร่านจะปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์  นอกจากนี้ การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวสามารถดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติสมาชิกในข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ
  • (-) FDA สหรัฐไฟเขียวใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12-15 ปี มั่นใจมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง  องค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์และบิออนเทคในเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปีเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในสหรัฐมีขอบข่ายที่กว้างมากขึ้น แม้อัตราการฉีดวัคซีนในขณะนี้เริ่มชะลอตัวลงก็ตาม  ก่อนหน้านี้ วัคซีนของไฟเซอร์และบิออนเทคได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปในสหรัฐ แต่ขณะนี้ FDA ได้ตัดสินใจอนุญาตให้ใช้วัคซีนดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปี

- Advertisement -

Comments
Loading...