GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 9 มิ.ย.65 by YLG

527

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ

เข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นหากราคาทองคำสามารถยืนเหนือบริเวณ 1,844-1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ และทยอยปิดสถานะทำกำไรบางส่วนหากไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,865-1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,844 1,827 1,811  แนวต้าน : 1,873 1,891 1,909

ปัจจัยพื้นฐาน

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวันราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองการคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว 0.9% ในไตรมาส 2 หลังจากหดตัวลง 1.5% ในไตรมาส 1 ทำให้สหรัฐมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ขณะที่ OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.0% ในปีนี้ ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ 4.5% ในเดือนธ.ค.2021

ปัจจัยดังกล่าวหนุนให้ราคาทองคำทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,859.61 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างวัน แต่การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำถูกสกัดช่วงบวกจากดัชนีดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น 0.23% สู่ระดับ 102.5430 เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงแรง ส่งผลกระตุ้นความต้องการดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย นอกจากนี้ ราคาทองคำยังถูกสกัดช่วงบวกจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.029% หลังจากการดีมานด์ในการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์วานนี้เป็นไปอย่างซบเซา สะท้อนจาก Bid coverage ratio ที่เป็นมาตรวัดความต้องการครั้งนี้อยู่ที่ 2.41 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่พ.ย.ปีที่แล้วจนกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย

ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +2.33 ตัน สำหรับวันนี้จับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB) คาดคงนโยบายการเงินตามเดิม แต่อาจส่งสัญญาณถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.และก.ย. ซึ่งผลการประชุมครั้งนี้มีแนวโน้มส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของยูโร และบอนด์ยีลด์ได้ จึงอาจทำให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงเวลดังกล่าว พร้อมทั้งติดตามการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ

จจัยทางเทคนิค

หากราคาสามารถรักษาระดับเหนือบริเวณแนวรับ 1,844 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็รระดับต่ำสุดของวานนี้ได้ อาจจะเห็นการดีดขึ้นไปบริเวณแนวต้าน 1,865-1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวได้ อาจเห็นการอ่อนตัวลงของราคาอีกครั้ง โดยหากราคาหลุดแนวรับแรกราคามีโอกาสทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระดับต่ำสุดของสัปดาห์ที่ผ่านมา

- Advertisement -

กลยุทธ์การลงทุน

แนะนำลงทุนในกรอบราคา โดยเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว ในบริเวณแนวรับ 1,844-1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์)ขณะที่การขายทำกำไรพิจารณาในโซน 1,865-1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ข่าวสารประกอบการลงทุน

• (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 269.24 จุด วิตกศก.ถดถอย-ผลกระทบบอนด์ยีลด์พุ่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (8 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอย จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นเหนือระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 3% ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,910.90 จุด ลดลง 269.24 จุด หรือ -0.81%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,115.77 จุด ลดลง 44.91 จุด หรือ -1.08% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,086.27 จุด ลดลง 88.96 จุด หรือ -0.73%

• (+) สหรัฐเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มมากกว่าคาดในเดือนเม.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งพุ่งขึ้น 24% ในเดือนเม.ย.

• (+) “เยลเลน” เผยเงินเฟ้อที่ระดับ 8% เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 8% เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ถือเป็นเป้าหมายที่มีความเหมาะสม นอกจากนี้ นางเยลเลนยังกล่าวว่า จีนได้ดำเนินการทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม แต่การที่รัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนไม่ได้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านผลประโยชน์ของสหรัฐ ทั้งนี้ นางเยลเลนได้เข้าชี้แจงต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่ 2 โดยได้กล่าวถึงปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ และการดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยนางเยลเลนได้เข้าพบคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันนี้ หลังจากที่ได้พบคณะกรรมาธิการการเงินประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้

• (+) OECD หั่นคาดการณ์เศรษฐโลกปีนี้เหลือ 3.0% เซ่นพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปิดเมืองและท่าเรือตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.0% ในปีนี้ ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ 4.5% ในเดือนธ.ค.2564 OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.5% ในปีนี้ ส่วนยูโรโซนจะขยายตัว 2.6% และสหราชอาณาจักรขยายตัว 3.6% OECD ยังเตือนว่าเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารอันเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.4% ในปีนี้ ส่วนอินเดียจะขยายตัว 6.9% และบราซิลขยายตัว 0.6%

• (+) น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $2.70 รับสต็อกเบนซินลด-จีนคลายล็อกดาวน์ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 สัปดาห์ในวันพุธ (8 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันเบนซินลดลงอย่างเหนือความคาดหมาย ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการเชื้อเพลิงในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากที่จีนประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ

• (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐดีดตัวเหนือ 3% จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเหนือ 3% ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ณ เวลา 23.14 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.016% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.171%

• (+/-) ยูโรแข็งค่า คาด ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (8 มิ.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นทะลุระดับ 3% ขณะที่ยูโรแข็งค่าขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ ดัชนีดอลลาร์

ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.23% สู่ระดับ 102.5430 ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0718 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0710 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2540 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2588 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7195 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7234 ดอลลาร์ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.16 เยน จากระดับ 132.56 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9778 ฟรังก์ จากระดับ 0.9722 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2558 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2527 ดอลลาร์แคนาดา

- Advertisement -

Comments
Loading...