GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 3 พ.ค.65 by YLG

695

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ

หากราคาขยับขึ้น อาจเสี่ยงเปิดสถานะขายหากราคาไม่ผ่านโซน 1,872-1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แล้วปิดสถานะขายเพื่อทำกำไรระยะสั้น ในโซนแนวรับบริเวณ 1,854-1,841 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ควรวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ เนื่องจากตลาดTFEX จะหยุดทำการในวันพุธนี้

แนวรับ : 1,841 1,823 1,808  แนวต้าน : 1,872 1,890 1,911

ปัจจัยพื้นฐาน

ราคาทองคำวานนี้ปิดดิ่งลง 33.04 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์เกือบ 100% ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% หรือ 50 bps สู่ระดับ 0.75-1.0% พร้อมกับประกาศแผนการปรับลดขนาดงบดุลลงในการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนพ.ค.ที่กำลังจะเสร็จสิ้นลงในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีให้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเหนือ 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ธันวาคม 2018

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ Treasury Inflation Protected Securities (TIPS) อายุ 10 ปี ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงพลิกกลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวกแตะ 0.188% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีนาคม 2020 จนเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย

ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ปิดพุ่งขึ้น 0.33% แตะที่ 103.604 และยังคงทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีจนเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำเพิ่มเติม ประกอบกับดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกนำโดยแรงซื้อท้ายตลาด

ส่วนดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้นกว่า 200 จุด จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งบั่นทอนความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนกระทั่งหลุดระดับต่ำสุดเดิมบริเวณ 1,872.94 ดอลลาร์ต่อออนซ์จนกระทั่งกระตุ้นแรงขายทางเทคนิคเพิ่มเติม นั่นส่งผลให้ราคาทองคำดิ่งลงทดสอบระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งบริเวณ 1,854.94 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -2.32 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยจํานวนตําแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOLTS Job Openings) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน

จจัยทางเทคนิค

- Advertisement -

หลังจากราคาทิ้งตัวลงอาจเกิดแรงซื้อดีดตัวขึ้นระยะสั้น เบื้องต้นมีแนวต้านระยะสั้นที่ 1,872 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากสามารถผ่านไปได้ ประเมินว่าจะเกิดแรงซื้อดันมาเข้าใกล้แนวต้านสำคัญโซน 1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่ผ่านราคาอาจอ่อนตัวลงมาโซนแนวรับบริเวณ 1,841-1,823 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่หลุดราคาอาจฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นอีกครั้ง

กลยุทธ์การลงทุน

ราคาทองคำมีจุดเสี่ยงเปิดสถานะขายระยะสั้นในบริเวณ 1,872-1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากยืน1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้) แต่หากราคาอ่อนตัวลงให้พิจารณาบริเวณ 1,854-1,841 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดทยอยปิดสถานะขาย แต่หากหลุด แนะนำให้ชะลอการปิดสถานะขายไปโซนแนวรับถัดไปบริเวณ 1,823 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ข่าวสารประกอบการลงทุน

• (+) ผู้เชี่ยวชาญชี้จุดเปลี่ยนสำคัญหากฟินแลนด์ร่วมนาโต ขณะนายกฯขอเวลาตัดสินใจ ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์เปิดเผยว่า ฟินแลนด์จะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) หรือไม่ในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งคาดว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างสวีเดนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ฟินแลนด์อาจประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในด้านนโยบายต่างประเทศ และอาจสร้างความไม่พอใจให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย

• (+) สหรัฐเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนมี.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมี.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. และยังเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% ตัวเลขการใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นไม่มากนักแม้ภาคเอกชนจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะการใช้จ่ายภาครัฐยังคงลดลงต่อเนื่อง

• (+) ISM เผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัวลงต่อเนื่อง สวนทางนักวิเคราะห์ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือนเม.ย. โดยลดลงแตะ 55.4 จากระดับ 57.1 เมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดกันว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 57.6 ในเดือนเม.ย.

• (+) ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายยูโรโซนเดือนเม.ย.ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนลดลงต่ำสุดในรอบ 15 เดือน อยู่ที่ 55.5 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 56.5 ในเดือนมี.ค. แต่ยังสูงกว่าตัวเลขประมาณการขั้นต้นที่ 55.3

• (-) ดอลล์แข็งค่า รับคาดการณ์เร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (2 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนพ.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.76% แตะที่ 103.7430 ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.15 เยน จากระดับ 129.45 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9786 ฟรังก์ จากระดับ 0.9712 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2901 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2831 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0495 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0578 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2475 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2597 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7039 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7083 ดอลลาร์สหรัฐ

• (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 84.29 จุด นลท.ช้อนซื้อหลังหุ้นร่วงหนัก ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (2 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด ส่วนดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้นกว่า 200 จุด จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธนี้ตามเวลาสหัฐ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,061.50 จุด เพิ่มขึ้น 84.29 จุด หรือ +0.26%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,155.38 จุด เพิ่มขึ้น 23.45 จุด หรือ +0.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,536.02 จุด เพิ่มขึ้น 201.38 จุด หรือ +1.63%

- Advertisement -

Comments
Loading...