GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 25 พ.ค.65 by YLG

450

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ

เข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเมื่อราคาขยับขึ้นมีแรงขายทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยเข้าซื้อหากราคายืนเหนือบริเวณ 1,849-1,836 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ และทยอยปิดสถานะซื้อทำกำไรหากไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,870-1,878 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,849 1,836 1,820  แนวต้าน : 1,878 1,891 1,909

ปัจจัยพื้นฐาน

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเดิม คือ การแข็งค่าของสกุลเงินยูโร หลังจากที่นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยในยูโรโซนน่าจะกลับมาอยู่ในแดนบวกภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 50 bps ภายในช่วงซัมเมอร์เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มหลังจากวานนี้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมา “แย่เกินคาด” อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ค.ของสหรัฐจากเอสแอนด์พี โกลบอล ที่ร่วงลงเกินคาดสู่ระดับ 57.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการดิ่งลงเกินคาดเช่นกันสู่ระดับ 53.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งในภาคการบริการและภาคการผลิต ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 16.6% สู่ระดับ 591,000 ยูนิตในเดือนเม.ย.

ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 750,000 ยูนิต ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง -0.32% แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือนในวันอังคาร จนเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาทองคำทะยานขึ้นทดสอบระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์บริเวณ 1,869.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 3-4 พ.ค. รวมถึงถ้อยแถลงของนางลาเอล เบรนาร์ด รองประธานเฟด

จจัยทางเทคนิค

แม้ว่าราคาจะสร้างระดับสูงสุดใหม่จากวันก่อนหน้าแต่เมื่อราคาขยับขึ้นก็มีแรงขายทำกำไรสลับออกมาเพิ่มขึ้น หากราคาไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านระดับ 1,870-1,878 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างมั่นคง อาจเกิดแรงขายกดดันให้ราคาลงมาสู่เพื่อสะสมแรงซื้ออีกครั้ง แต่หากราคาพยายามเคลื่อนไหวเหนือโซนแนวรับระดับ 1,849-1,836 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ระยะสั้นราคาจะยังคงมีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน

- Advertisement -

หากสามารถยืนเหนือ 1,849-1,836 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดสถานะซื้อ โดยตัดขาดทุนหากหลุดระดับ 1,836 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับการปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไรอาจพิจารณาดูบริเวณ 1,870-1,878 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากผ่านขึ้นไปให้ชะลอการปิดสถานะซื้อออกไป

ข่าวสารประกอบการลงทุน

• (+) ดอลล์อ่อนค่า นลท.ผิดหวังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (24 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขณะที่ยูโรแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ขานรับแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ค.และก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.21% แตะที่ 101.8580 ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0727 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0692 ดอลลาร์

ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2515 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2577 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7088 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7108 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 126.80 เยน จากระดับ 127.92 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9610 ฟรังก์ จากระดับ 0.9659 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2832 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2778 ดอลลาร์แคนาดา

• (+) ดาวโจนส์บวกเล็กน้อย, Nasdaq ร่วงกว่า 2% วิตกศก.ถดถอย ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันอังคาร (24 พ.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปิดร่วงลงหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และบริษัทจดทะเบียนบางแห่งได้ปรับลดแนวโน้มผลประกอบการ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,928.62 จุด เพิ่มขึ้น 48.38 จุด หรือ +0.15%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,941.48 จุด ลดลง 32.27 จุด หรือ -0.81% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,264.45 จุด ร่วงลง 270.83 จุด หรือ -2.35%

• (+) บอนด์ยีลด์สหรัฐร่วง นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง หันเข้าซื้อพันธบัตร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางการดิ่งลงของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท และส่งแรงซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ณ เวลา 00.34 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.742% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.966%

• (+) สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่ต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 16.6% สู่ระดับ 591,000 ยูนิตในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 750,000 ยูนิต จากระดับ 709,000 ยูนิตในเดือนมี.ค.

• (+) ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐต่ำสุดรอบ 4 เดือนในพ.ค. เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.8 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 56.0 ในเดือนเม.ย. ดัชนี PMI ถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการล็อกดาวน์ในจีน และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 57.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 59.2 ในเดือนเม.ย. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 53.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 55.6 ในเดือนเม.ย

• (+) ยูเครนร้องขออาวุธเพิ่มด่วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ดมิโทร คูเลบา เร่งเร้าให้รัฐบาลทั่วโลกส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธอย่างเร่งด่วนให้แก่ยูเครน เพื่อใช้ต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย รัฐมนตรีคูเลบา ทวีตในวันอังคารว่า “ยังคงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ายูเครนมีอาวุธครบทั้งหมดที่ต้องการแล้ว” และว่า “การรุกรานของรัสเซียในแคว้นดอนบาสเป็นการโจมตีที่โหดเหี้ยม และเป็นการสู้รบครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง” พร้อมกระตุ้นให้ชาติพันธมิตรเร่งจัดส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธและกระสุนให้แก่ยูเครน โดยเฉพาะเครื่องยิงจรวดแบบหลายลูก (MLRS) และปืนใหญ่พิสัยไกล เป็นต้น

• (-) EU ยอมรับไม่สามารถบรรลุฉันทามติคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียในการประชุม 30-31 พ.ค. นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ยอมรับว่า สมาชิก EU ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในการประชุมสุดยอดในวันที่ 30-31 พ.ค. “ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม EC เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาทางเทคนิค โดยสมาชิก EU บางประเทศไม่มีพรมแดนติดกับทะเล ทำให้ต้องมีการลงทุนในการสร้างท่อส่งน้ำมันเพิ่ม ขณะที่บางประเทศต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่น และพลังงานหมุนเวียน” นางฟอน เดอร์ เลเยนกล่าว

- Advertisement -

Comments
Loading...