GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 21 เม.ย.65 By HGF

509

- Advertisement -

โดย  : บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด(HGF)

ทองปรับตัวขึ้นช่วงกลางคืนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามดัชนีกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย

แนวโน้มราคาทองคำคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,940-1,970 ดอลลาร์

  • ราคาทองคำ Spot ช่วงกลางวันเมื่อวานนี้ปรับตัวลดลงในระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามในช่วงกลางคืนราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ  ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ถือครองทองคำเท่าเดิมจากเมื่อวานที่ผ่านมา
  • คืนนี้สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนเม.ย. ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 21.5 จาก 27.4 ในเดือนมี.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตลาดคาดว่าจะลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 177,000 ราย และดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจเดือนมี.ค. โดย conference Board ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%
  • แนวโน้มราคาทองคำคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,940-1,970 ดอลลาร์ โดยราคาทองคำมีแนวรับ 1,940 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไปที่ 1,930 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,970 ดอลลาร์ และ 1,980 ดอลลาร์

ราคาทองตลาดโลก

Closechg.SupportResistance
1,957.30+7.61,940/1,9301,970/1,980

ราคาทองแท่ง 96.5%

Closechg.SupportResistance
31,200-35031,050/30,90031,500/31,650

โกลด์ฟิวเจอร์ส

ClosechgSupportResistance
31,450+19031,330/31,09031,570/31,770

การเข้าซื้อราคาทอง Spot รอบใหม่ สามารถเข้าซื้อเมื่อราคา spot ปรับลงมาบริเวณ ที่ 1,930 ดอลลาร์ (GF 31,090 บาท) โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,920 ดอลลาร์ (GF 30,950 บาท)

โกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์

ClosechgSupportResistance
1,962.50+9.901,942/1,9321,972/1,982

การเข้าซื้อราคา GOM22 รอบใหม่ สามารถเข้าซื้อเมื่อราคา GOM22 ปรับลงมาบริเวณ ที่ 1,932 ดอลลาร์ โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,922 ดอลลาร์

ค่าเงิน

ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องตามทิศทางสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า ทั้งนี้ระยะสั้นค่าเงินบาทคาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าได้ต่อ สำหรับ USD Futures เดือนมิ.ย.65 มีแนวรับที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 34 บาท/ดอลลาร์

News

- Advertisement -

ปธ.เฟดแอตแลนตา-ชิคาโกประสานเสียงหนุนขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป

นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกล่าวว่า เฟดไม่ควรเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเร็วเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ 

นายบอสติกกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า “กรรมการเฟดควรประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ผมคิดว่ามุมมองของผมเป็นไปในทิศทางเดียวกับกรรมการเฟดท่านอื่น ๆ และเชื่อว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราควรจะปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่เป็นกลาง และดำเนินการในแนวทางทางนั้นอย่างรอบคอบระมัดระวัง”     “อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง หมายถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีผลกระทบทั้งในด้านลบและด้านบวกต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามปัจจัยพื้นฐาน โดยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางควรจะอยู่ในช่วง 2% – 2.5% หรือต่ำสุดไม่เกิน 1.75%”   

เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายบอสติกว่า เขาเห็นด้วยหรือไม่กับการที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% จนแตะระดับ 3.5% ภายในสิ้นปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยนายบอสติกกล่าวว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แม้ว่านั่นจะไม่ใช่มุมมองของผมในเวลานี้ก็ตาม”

ทางด้านนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวในการประชุมที่สมาคมเศรษฐกิจในรัฐนิวยอร์กว่า เฟดควรปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.25% – 2.50% ภายในปีนี้ และจากนั้นจึงพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ แต่หากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก   

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยตามความเห็นของนายอีแวนส์ยังต่ำกว่ากรอบที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.50% – 2.75%     นอกจากนี้ นายอีแวนส์ระบุว่า เฟดยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% ในเวลานี้     การแสดงความเห็นของนายอีแวนส์และนายบอสติกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 500 จุด

ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดครั้งต่อไปในวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ โดยตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543

ยูเครนเผยรัสเซียเริ่มถล่มดอนบาสเต็มรูปแบบ ขณะไบเดนพร้อมส่งอาวุธเพิ่ม

ทางการยูเครนเปิดเผยว่า รัสเซียเริ่มโจมตีภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครนอย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงระบุว่าเป็น “เฟสสอง” ของสงคราม ด้านผู้ว่าการภูมิภาคดอนบาสระบุว่า เมืองเครมินนาทางตะวันออกของยูเครนถูกกองทัพรัสเซียยึดได้แล้ว โดยนับเป็นเมืองแรกที่ถูกยึดในสงครามเฟสนี้  

นอกจากนี้ ยังไม่พบว่ามีการเปิดระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridors) เพื่ออพยพพลเรือนที่ติดอยู่ตามพื้นที่สู้รบทางตะวันออกเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแล้ว  

สำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ได้ต่อสายพูดคุยกับชาติพันธมิตรเพื่อหารือเรื่องสงครามและยังคงให้การสนับสนุนยูเครน นอกจากนี้ คาดว่าคณะทำงานของปธน.ไบเดนจะประกาศให้ความช่วยเหลือด้านการทหารครั้งใหญ่แก่ยูเครนในสัปดาห์นี้  

ทางด้านนายจิม ไทเคล็ต ซีอีโอของล็อคฮีด มาร์ตินให้สัมภาษณ์ในรายการ “The Exchange” ของซีเอ็นบีซีว่า ทางบริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตอาวุธเพื่อตอบรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน    นายไทเคล็ตกล่าวว่า “สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป” โดยคำพูดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามีการถ่ายโอนอาวุธจำนวนมหาศาลของสหรัฐและชาติพันธมิตรในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน

ขุนคลังสหรัฐชี้สงครามในยูเครนซ้ำเติมปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารโลก

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐได้ออกมาเปิดเผยว่า สงครามของรัสเซียในยูเครนคือสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารโลก ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้ว ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ขณะที่ภาวะตื่นตระหนกด้านราคาและอุปทานเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อโลก    สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เปิดเผยถ้อยแถลงของนางเยลเลนว่า ประชาชนกว่า 800 ล้านคนหรือ 10% ของประชากรโลก ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจากปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารแบบเรื้อรังอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามในยูเครน และการประมาณได้การแสดงให้เห็นว่า เฉพาะการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารมีแนวโน้มผลักดันให้ประชาชนอย่างน้อย 10 ล้านคนตกอยู่ภายใต้ภาวะยากไร้   

นางเยลเลนกล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งห้ามส่งออก ซึ่งสามารถทำให้ราคาสินค้าแพงยิ่งขึ้น ขณะที่เพิ่มการสนับสนุนประชนชนกลุ่มเปราะบางและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของนายคริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี    “ดิฉันต้องการชี้แจงให้ชัดแจ้ง การกระทำของรัสเซียเป็นต้นเหตุของปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารโลก”

นางเยลเลนกล่าว พร้อมเสริมว่าสหรัฐกำลังทำงานอย่างเร่งด่วนร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรเพื่อ “ช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามที่ไม่ยั้งคิดของรัสเซียที่มีต่อภาคส่วนที่อ่อนแอที่สุดของโลก”     นายลินด์เนอร์ซึ่งกล่าวในนามของกลุ่มประเทศ G7 ระบุว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแบบกำหนดเป้าหมายและสอดประสานกัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่เรียกร้องให้ทุกประเทศ “เปิดตลาดกสิกรรมต่อไป โดยละเว้นการกักตุนสินค้า และไม่ออกมาตรการจำกัดการส่งออกอย่างไม่เหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรกรรมและอาหาร”

- Advertisement -

Comments
Loading...