GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 10 มิ.ย.65 by YLG

1,074

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ

ราคาทองคำยังคงพยายามยืนเหนือแนวรับโซน 1,836-1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากสามารถยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ มีแนวโน้มขึ้นทดสอบ 1,859-1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าไม่สามารถปรับขึ้นไปยืนได้อาจเกิดแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมาอีกครั้ง

แนวรับ : 1,827 1,811 1,786  แนวต้าน : 1,859 1,873 1,891

ปัจจัยพื้นฐาน

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 5.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำถูกกดดันอย่างชัดเจนหลังผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB) ทั้งนี้ ECB มีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ย และระบุจะยุติการซื้อสินทรัพย์ในโครงการ Asset Purchase Programme (APP) ภายในสิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่ง “เร็วกว่า” ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ที่สำคัญ คือ ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค. และปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนก.ย.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของ ECB ในเดือนก.ย.ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นไม่ต่ำกว่า 2.1% ในปี 2024 ทาง ECB ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย “มากกว่า” 0.25% ซึ่งถือเป็นสัญญาณในเชิง Hawkish แม้ประเด็นดังกล่าวจะหนุนยูโรให้แข็งค่าก่อน ซึ่งควรจะเป็นปัจจัยหนุนทองคำ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำกลับตอบรับในเชิงลบเนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วยุโรปทุกช่วงอายุได้เพิ่มสูงขึ้นขานรับดอกเบี้ยขาขึ้น

ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปีของอิตาลีเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018 ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปีของเยอรมันเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ก.ค. 2014 จนเป็นกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยูโรได้กลับมาอ่อนค่าลงในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลว่าดอกเบี้ยขาขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจในยูโรโซนต้องเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัวลง สถานการณ์ดังกล่าวกดดันทองคำให้ร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,839.98 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้จับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่อาจกระทบต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า

จจัยทางเทคนิค

- Advertisement -

ราคาพยายามรักษาระดับไว้ โดยเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังทดสอบแนวต้านที่ 1,859 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถผ่านได้ยังคงต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไรเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเมื่อราคาทดสอบระดับดังกล่าวจะมีแรงขายออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามหากการอ่อนลงของราคาไม่หลุดโซนแนวรับระยะสั้นอยู่ที่ 1,836-1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ประเมินว่าราคายังคงมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นอีกครั้ง

กลยุทธ์การลงทุน

แนะนำลงทุนในกรอบราคา โดยเปิดสถานะซื้อในบริเวณ 1,836-1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ลดพอร์ตสถานะซื้อหากราคาหลุด 1,827ดอลลาร์ต่อออนซ์) เมื่อราคาดีดตัวขึ้นให้พิจารณาโซน 1,859-1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไร

ข่าวสารประกอบการลงทุน

• (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 638.11 จุด กังวลเงินเฟ้อหนุนเฟดเร่งขึ้นดบ. ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดในวันพฤหัสบดี (9 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงและผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังเป็นปัจจัยกดดันตลาด ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,272.79 จุด ร่วงลง 638.11 จุด หรือ -1.94%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,017.82 จุด ลดลง 97.95 จุด หรือ -2.38% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,754.23 จุด ดิ่งลง 332.04 จุด หรือ -2.75%

• (+) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาดสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 27,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 210,000 ราย

• (-) ดอลล์แข็งค่าหลังบอนด์ยีลด์พุ่ง-จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (9 มิ.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ปีนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.68% สู่ระดับ 103.2400 ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.27 เยน จากระดับ 134.16 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9801 ฟรังก์ จากระดับ 0.9778 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2689 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2558 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0624 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0718 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2505 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2540 ดอลลาร์

• (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐดีดตัวเหนือ 3% ขานรับผลประชุม ECB อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3% ในวันนี้ ขานรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ณ เวลา 22.50 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.044% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.182%

• (-) “ลาการ์ด” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนก.ย. หากเงินเฟ้อพุ่ง นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า หากตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของ ECB ในเดือนก.ย.ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นไม่ต่ำกว่า 2.1% ในปี 2567 ทาง ECB ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนก.ย.

• (-) ECB ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ/หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ECB ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ทั้งนี้ ECB คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 6.8% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 3.5% และ 2.1% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค. ซึ่ง ECB คาดว่าเงินเฟ้อจะดีดตัวแตะ 5.1% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 2.1% และ 1.9% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ECB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว 2.8% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.1% ทั้งในปี 2566 และ 2567 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมี.ค. ซึ่ง ECB คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 2.8% และ 1.6% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

• (+/-) ECB ส่งสัญญาณยุติ QE/ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนหน้าตามคาด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ระบุว่า “ECB มีความประสงค์ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค. และปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนก.ย. ซึ่งหากเงินเฟ้อในระยะกลางยังคงมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อไป ECB ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนก.ย. ส่วนหลังจากเดือนก.ย. ECB จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ขณะเดียวกัน ECB ระบุว่า ทางธนาคารจะยุติการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ภายในสิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อในยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับ 8.1% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540 และสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2%

- Advertisement -

Comments
Loading...