GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 1 เม.ย.65 by YLG

676

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ

เน้นการทำกำไรระยะสั้น โดยแนะนำเปิดสถานะขายในโซน 1,949-1,966 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รอเข้าซื้อคืนหากราคาไม่หลุดแนวรับโซน 1,911-1,907 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาหลุดแนวรับดังกล่าวให้ชะลอการซื้อคืนออกไป

แนวรับ : 1,907 1,890 1,870  แนวต้าน : 1,949 1,966 1,974

ปัจจัยพื้นฐาน

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์แม้ระหว่างวันทองคำจะพักตัวโดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน หลังจากมีข่าวว่าสหรัฐจะระบายน้ำมันจำนวน 180 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และบรรเทาภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ทองคำร่วงลงทดสอบกรอบล่างบริเวณ 1,919.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในเวลาต่อมา หลังประธานาธบดีปูติน ได้ลงนามในกฤษฎีกาซึ่งระบุว่า ต่างชาติที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และสัญญาการซื้อก๊าซจะถูกระงับ หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ข่าวนี้ช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเนื่องจากจะทำให้รัสเซียเสี่ยงเผชิญการคว่ำบาตรมากขึ้น และอาจทำให้วิกฤตพลังงานยิ่งทวีความรุนแรงจนกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังจากดัชนี PCE พื้นฐาน ที่เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อซึ่งเฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.1983ปัจจัยบวกดังกล่าวหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,949.62 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะลดช่วงบวกลงปลายตลาด เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นปัจจัยหนุนดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าจนสกัดช่วงบวกทอง อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังสามารถปิดตลาดในไตรมาส 1/2022ด้วยการพุ่งขึ้นกว่า +7% ซึ่งมากสุดในรอบเกือบ 2 ปี หรือ นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2020 ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้จับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร, อัตราการว่างงาน และรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงแรงงานของสหรัฐ

- Advertisement -

จจัยทางเทคนิค

แม้ว่าราคาจะทรงตัวแต่หากราคายังไม่สามารถเหนือระดับ 1,949 ดอลลาร์ต่อออนซ์(ระดับสูงสุดใหม่จากวันก่อนหน้า)ราคามีโอกาสอ่อนตัวลงช่วงสั้น หากสามารถยืนเหนือแนวรับบริเวณ 1,911-1,907 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แสดงให้เห็นว่าแรงซื้อเข้ามาพยุง ราคามีการดีดตัวขึ้นอีกครั้ง แต่หากยืนเหนือแนวรับแรกไม่ได้ ราคามีโอกาสอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับถัดไปโซน1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์

กลยุทธ์การลงทุน

เน้นการลงทุนระยะสั้น หาจังหวะในการเปิดสถานะขาย โดยใช้บริเวณ 1,949-1,966 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และตัดขาดทุนหากผ่าน 1,966 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทยอยแบ่งปิดสถานะทำกำไรหากราคาไม่หลุดโซนแนวรับ 1,911-1,907ดอลลาร์ต่อออนซ์แต่หากราคาหลุดแนวรับดังกล่าวให้ชะลอการซื้อคืนออกไป

ข่าวสารประกอบการลงทุน

  • (+) ยุโรปร้องระงม หลังปูตินเอาจริง! “รูเบิลไม่มา-ก๊าซไม่ไป” เริ่มพรุ่งนี้  หลายประเทศต่างแสดงความไม่พอใจ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า ประเทศที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ก็จะถูกยกเลิกสัญญา  ก่อนหน้านี้ ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปได้แสดงท่าทีคัดค้าน หลังจากที่ปธน.ปูตินส่งสัญญาณในสัปดาห์ที่แล้วว่ารัสเซียจะใช้มาตรการดังกล่าวต่อประเทศที่ “ไม่เป็นมิตร” ของรัสเซีย
  • (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 550.46 จุด กังวลสงครามยูเครน-เฟดเร่งขึ้นดบ.  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 500 จุดในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,678.35 จุด ลดลง 550.46 จุด หรือ -1.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,530.41 จุด ลดลง 72.04 จุด หรือ -1.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,220.52 จุด ลดลง 221.76 จุด หรือ -1.54%
  • (+) สหรัฐเผยการใช้จ่ายส่วนบุคคลต่ำกว่าคาดในเดือนก.พ.  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.5%  การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากรัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
  • (+) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว  กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 14,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 202,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 195,000 ราย
  • (-) ดอลลาร์แข็งค่า คาดเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังเงินเฟ้อสูงสุดเกือบ 40 ปี  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้  ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.53% แตะที่ 98.3100 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9226 ฟรังก์ จากระดับ 0.9225 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2479 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2476 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 121.59 เยน จากระดับ 121.79 เยน  ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1073 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1164 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3136 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3137 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7489 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7508 ดอลลาร์สหรัฐ
  • (-) ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ยืนยันระบายน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วันสกัดราคาพุ่ง  ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ในวันนี้ระบุว่า สหรัฐจะระบายน้ำมันในคลังสำรองจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และบรรเทาภาวะเงินเฟ้อในประเทศ  แถลงการณ์ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะระบายน้ำมันจำนวน 180 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) โดยจะมีการระบายน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วันเป็นเวลา 6 เดือน
  • (-) น้ำมัน WTI ปิดร่วง $7.54 หลังสหรัฐยืนยันระบายน้ำมันจากคลังสำรอง  สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 7% ในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) หลังสหรัฐยืนยันว่าจะระบายน้ำมันในคลังสำรองจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน  ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 7.54 ดอลลาร์ หรือ 7% ปิดที่ 100.28 ดอลลาร์/บาร์เรล  สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 5.54 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 107.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • (+/-) สหรัฐเผยเงินเฟ้อจากดัชนี PCE พื้นฐานพุ่งสูงสุดเกือบ 40 ปี  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2526 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%

- Advertisement -

Comments
Loading...