GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

ทองคำ VS ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำไมถึงสวนทางกัน? EP.2 การล่มสลายของ Gold Standard

747

- Advertisement -

จากบทความที่แล้วเราก็ได้ทำความรู้จักกับมาตรฐานทองคำหรือ Gold Standardไปเรียบร้อยกันแล้ว ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่คำตอบที่ว่าทำไมทองคำกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯถึงสวนทางกัน มาบทความนี้ก่อนเราจะลุยกันต่อ ย้อนความเดิมตอนที่แล้วกันซักนิดนะครับ จะได้ไม่หลง โดยจากบทความที่แล้ว ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1879 จนถึง 1930 ยกเว้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระบบการเงินของโลกต่างยึดถือกับระบบมาตรฐานทองคำ ซึ่งวิธีการและข้อดีของเจ้าระบบนี้สามารถอ่านได้จากบทความตอนที่แล้วครับ และแน่นอนครับ ทุกระบบมีข้อเสีย มาตรฐานทองคำก็เช่นกัน…..

จุดอ่อนอันร้ายแรงของระบบมาตรฐานทองคำมีอยู่ 2 อย่างหลักๆ ข้อแรก อย่างที่กล่าวไปเมื่อตอนที่แล้ว ระบบมาตรฐานทองคำจะช่วยปรับสมดุลเศรษฐกิจ จะไม่มีประเทศไหนที่มั่งคั่งหรือแร้นแค้นเกินไป เพราะเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเจ้าระบบนี้จะช่วยปรับให้ทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับสู่สมดุลของมัน ส่วนรายละเอียดของการปรับตัวที่ว่าลองไปอ่านที่บทความตอนแรกกันดูนะครับ (ขอโฆษณาอีกรอบ) ถ้าการปรับตัวเข้าสู่สมดุลไม่ได้สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ระบบนี้ก็คงอยู่มาจนถึงปัจจุบันแหงแซะ แต่ทุกคนอยากได้อยากมีครับ เมื่อมีแล้วก็อยากมีตลอดไป(ไปเรื่องธรรมะได้ไงเนื่ย) เมื่อประเทศเคยมั่งมีแต่อยู่ดีๆต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวในระบบมาตรฐานทองคำ ประชาชนในประเทศก็คงยากที่จะทำใจ รัฐบาลที่บริหารประเทศก็ต้องการที่จะเห็นเศรษฐกิจของตัวเองรุ่งเรืองตลอดไปและทนไม่ได้ที่จะเห็นประเทศที่ตัวเองบริหารเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นแน่แท้(เพราะมันอาจมีผลต่อคะแนนเสียงไง) ข้อต่อไปก็คือ ระบบนี้จำนวนเงินในระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับจำนวนทองคำที่ธ.กลางเก็บไว้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะผลิตทองคำได้หมดนะครับ แน่นอนครับ ประเทศที่ผลิตทองคำเองได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็หมายความว่าจะสามารถผลิตเงินได้เรื่อยๆ ต่างจากประเทศที่ไม่สามารถผลิตทองคำได้เองที่อาจต้องกระเบียดกระเสียดกว่า

จุดอ่อนอันร้ายแรงทั้ง 2 ข้อที่กล่าวไปข้างต้นนั่นแหละครับที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของระบบมาตรฐานทองคำ ประเทศทั้งหลายต้องการให้เศรษฐกิจตัวเองรุ่งเรืองอยู่ตลอดเวลา แต่จะปล่อยให้สัดส่วนระหว่างทองคำและเงินในประเทศมันเปลี่ยนไม่ได้ วิธีการที่ประเทศส่วนใหญ่ทำก็คือ ลดค่าเงินตัวเองมันซะเลย เพราะกฎก็ไม่ได้บอกนี่นาว่าห้ามเปลี่ยนแปลงค่าเงินที่ผูกไว้กับทองคำ เช่นจากเดิมที่บอกว่าเงิน 40 ดอลลาร์สหรัฐฯแลกทองคำได้ 1 ออนซ์ ก็บอกใหม่ ว่าให้เงิน 80 ดอลลาร์สหรัฐฯแลกทองได้ 1 ออนซ์ละกัน ผลที่ตามมาคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็ลดมูลค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินในประเทศอื่นๆ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้สินค้าที่ตนส่งออกมีค่าถูกลงในสายตาของประเทศอื่น เพื่อให้ส่งออกได้มากขึ้นตลอดไป ประเทศอื่นก็เช่นกันครับ ต่างแข่งขันกันลดค่าเงินของตัวเองรวมทั้งเล่นนอกเกมโดยการออกกฎหมายกีดกันการค้ากับประเทศอื่นเสียด้วยซ้ำ

- Advertisement -

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมา ระบบมาตรฐานทองคำก็ถูกเอาขึ้นหิ้งไว้ เพราะในภาวะสงคราม ทุกประเทศต่างต้องการเงินเพื่อซื้ออาวุธเพื่อมาไฝว้กับคู่กรณี จะพิมพ์เงินเพิ่มก็ต้องเสียเวลาหาทองคำเพิ่มเติมเพื่อมาหนุนหลังเงินที่พิมพ์ออกมาใหม่ วิธีการแก้ไขก็ง่ายดายเหมือนที่บอกไปเมื่อกี้ครับ ยกเลิกไปก่อน สงครามเลิกค่อยมาใช้ใหม่ละกัน

เมื่อรบกันเสร็จเรียบร้อย ทุกประเทศก็กลับมาใช้มาตรฐานทองคำเหมือนเดิมครับ(อารมณ์เหมือนเลิกกะแฟนไปแล้วกลับมาคบกันใหม่ยังไงยังงั้น) แต่แน่นอนครับ ต่างคนต่างก็พากันลดค่าเงินตัวเองเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังผ่านช่วงสงครามมาซึ่งเกิดเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ Great Depression บวกกับช่วงสงครามที่มีการพิมพ์เงินกันอุตลุตจนเงินกระดาษเพิ่มขึ้นพรวดพราด การจะรักษาสัดส่วนระหว่างทองคำและเงินกระดาษก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก มาตรฐานทองคำที่นำกลับมาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจึงดำเนินไปแบบโซซัดโซเซ จนสุดท้ายก็ต้องล้มเลิกกันไป เพราะไม่สามารถรักษาสัดส่วนทองคำและเงินไว้ได้อีกแล้ว นอกจากนี้ระบบการค้าและการเงินของโลกก็ถูกทำลายอีกครั้งจากสงครามโลกครั้งที่สอง จนในที่สุดตัวละครที่สำคัญอีกตัวก็ปรากฎตัวขึ้นมานั่นก็คือข้อตกลง Bretton Woodsแต่ครั้นจะเล่าต่อ ก็คงจะยาวไป(นั่น) ทางที่ดี ขออนุญาตลากต่อไปอีกตอนก็แล้วกันนะครับ   

ในบทความนี้เราก็ได้รู้ถึงข้อบกพร่องและการล่มสลายของระบบมาตรฐาทองคำกันไปแล้วนะครับ ครั้งหน้าไอ้เจ้า Bretton Woodsที่ผมพูดถึงมา 2ครั้งแล้วนี่จะโผล่มาให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวแน่นอนครับ สำหรับวันนี้คงต้องจรลีไปก่อนคร้าบ

- Advertisement -

Comments
Loading...