วิเคราะห์ราคาทองคำ 8 พ.ค.63 (ภาคบ่าย) by YLG

โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
แนวรับ : 1,703 1,690 1,675
แนวต้าน : 1,728 1,739 1,747
ข่าวสารสำคัญเพื่อประกอบการลงทุน (เพิ่มเติมช่วงเย็น)
สรุป แม้ว่าผู้แทนการค้าระดับสูงของสหรัฐและจีน นำโดยรองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอของจีน, นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ได้หารือทางโทรศัพท์เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ซึ่งได้เห็นพ้องกันว่าจะปฏิบัติตามพันธสัญญาแม้ว่าเกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกในปัจจุบัน การเจรจาดังกล่าวลดความตึงเครียดทางการค้าและสร้างแรงขายทำกำไรทองคำออกมา อย่างไรก็ตาม ปธน.ทรัมป์ ระบุว่ากำลังจับตาอย่างใกล้ชิดภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ว่า จีนจะปฏิบัติตามข้อตกลงในการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าของสหรัฐหรือไม่ นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ จะกลับมาเดินสายรณรงค์หาเสียง ซึ่งอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างเผ็ดร้อนในการหาเสียง โดยในสัปดาห์หน้าเขาจะเดินทางไปยังรัฐแอริโซนา ซึ่งประเด็นดังกล่าว อาจสร้างแรงซื้อเข้ามาพยุงราคาทองคำไว้ เบื้องต้นราคาทองคำยังคงพยายามรักษาระดับไว้ หากราคาสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,706-1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แนะนำเข้าซื้อเพื่อหวังทำกำไรจากการดีดตัวขึ้นทดสอบโซน 1,726-1,728 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม หากผ่านแนวดังกล่าวไปได้ราคาจะขยับขึ้นต่อเพื่อทดสอบแนวต้านถัดไปในโซน 1,739-1,747 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยรายงานการจ้างงานรายเดือนเม.ย. ซึ่งอาจสร้างความผันผวนต่อราคาทองคำได้ นักลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ
แนวโน้ม Gold Spot: ราคาทองคำกำลังพยายามสร้างฐานและอาจมีความเป็นไปได้ที่ราคาจะขึ้นทดสอบโซน 1,726-1,728 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากผ่านไม่ได้อาจขยับลงทดสอบแนวรับบริเวณ 1,706-1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากผ่านแนวต้านแรกได้มีโอกาสดีดตัวขึ้นต่อทดสอบแนวต้านโซน 1,739-1,747 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์ Gold Futures:
Long Position สังเกตโซน 1,726-1,728 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพราะถ้าราคายังเคลื่อนตัวไม่ผ่านจุดดังกล่าว ก็ควรที่จะขายทำกำไรออกไปก่อน และรอเข้าซื้ออีกครั้งที่แนวรับ 1,706-1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์
Short Position แนะนำให้แบ่งปิดสถานะทำกำไรบางส่วนหากราคามีการอ่อนตัวใกล้กับแนวรับ 1,706-1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และจำเป็นต้องลดสถานะขายลงหากราคาทรงตัวได้มั่นคงเหนือบริเวณ 1,728 ดอลลาร์ต่อออนซ์
Open New ให้ใช้แนวรับ 1,706-1,703 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดในการเสี่ยงเข้าซื้อเก็งกำไรได้ (ตัดขาดทุนหากหลุดโซน 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์) หากถือทองคำในมืออยู่แล้วอาจรอดูว่าราคาจะยืนบริเวณโซน 1,726-1,728 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้หรือไม่ หากยืนไม่ได้พิจารณาขายเพื่อทำกำไรระยะสั้น อย่างไรก็ตามยังคงเน้นการทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว
ข่าวสารประกอบการลงทุน
- (+) ดัชนีจีดีพีโลกชี้เศรษฐกิจโลกหดตัว 4.8% ในเดือนเม.ย. ดัชนีติดตามการเติบโตของจีดีพีโลกของ Bloomberg Economics ปรับลงอย่างหนักอีกครั้งในเดือนเม.ย. ซึ่งบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกหดตัวตามอัตรารายปีที่ 4.8% ซึ่งลดลงจากการปรับลง 0.8% ในเดือนมี.ค. และห่างจากการเติบโต 4.2% ในช่วงต้นปีนี้อย่างมาก นั่นยังเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงรุนแรงที่สุดของวิกฤตการณ์ทางการเงินในปลายปี 2008 สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะขึ้นอยู่กับระดับการผ่อนปรนมาตรการจำกัด
- (+) “เจพีมอร์แกน”เตือนความเสี่ยงจากความขัดแย้งสหรัฐ-จีน เมื่อวานนี้นายอเล็กซานเดอร์ เทรเวสจาก JPMorgan Asset Management กล่าวต่อสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นใดๆระหว่างสหรัฐและจีนจะเป็น “สิ่งสุดท้าย” ที่โลกต้องการ ในการแสดงความเห็นต่อตัวเลขการค้าที่ดีเหนือความคาดหมายของจีน นายเทรเวสเตือนว่า หากสหรัฐเริ่มอ้างว่าตัวเลขการส่งออกดังกล่าว “แสดงว่าจีนได้ประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม เทียบกับคาดการณ์จากสถานการณ์ปัจจุบัน” สหรัฐจะมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะพร้อมดำเนินการอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นด้านการค้า
- (-) “มูดี้ส์”คาดจีดีพีอินเดียอาจโต 0% ในปีงบประมาณนี้เซ่นพิษโควิด-19 นักวิเคราะห์ของมูดี้ส์กล่าวในวันนี้ว่า ผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 จะเร่งให้เศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวอย่างมาก ในขณะที่คาดว่าอินเดียจะมีการขยายตัว 0% ในปีงบประมาณปัจจุบัน มูดี้ส์ระบุว่า คาดว่าอินเดียจะไม่มีการขยายตัวในปีงบประมาณ 2021 และจะดีดกลับสู่การขยายตัวของจีดีพี 6.6% ในปีงบประมาณ 2022 ขณะที่คาดว่ายอดขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มสู่ 5.5% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2021 เมื่อเทียบกับคาดการณ์ที่ 3.5% มูดี้ส์ระบุในรายงานว่า การแพร่กระจายของโควิด-19 ในอินเดีย “ได้ลดแนวโน้มความแข็งแกร่งทางการคลังของอินเดียลงอย่างมาก”
- (-) ฝรั่งเศสเตรียมผ่อนคลายล็อกดาวน์เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง เช่นเดียวกับเยอรมนี, อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ที่ผ่อนปรนมาตรการจำกัด ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปอ่อนแอลงจากผลกระทบของโควิด-19 นายกรัฐมนตรีเอดัวร์ ฟีลีปของฝรั่งเศสระบุว่า ฝรั่งเศสพร้อมสำหรับแผนการผ่อนคลายการควบคุมวิถีชีวิตสาธารณชนทั่วประเทศ แม้การควบคุมที่เข้มงวดจะยังคงบังคับใช้ต่อระบบขนส่งมวลชนในกรุงปารีส ซึ่งอัตราการติดเชื้ออยู่ในระดับสูง การผ่อนปรนข้อจำกัดต่อธุรกิจและร้านค้าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ ภายใต้กระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่มีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อระลอก 2
- (-) ผู้เชี่ยวชาญชี้เฟดจะไม่ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ เหตุไม่ได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจ บรรดาผู้จัดการกองทุนและนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าร่วมในสัมมนา Reuters Global Markets Forum ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า แทบไม่มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ แม้ตลาดการเงินต่างๆ ได้เริ่มปรับตัวรับการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกแล้วก็ตาม สัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งบ่งชี้ถึงการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอนาคตนั้น ขณะนี้ได้ปรับตัวรับภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะติดลบเล็กน้อยซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนธ.ค.ปีนี้ ทั้งนี้ บรรดาเทรดเดอร์ได้เริ่มปรับตัวรับแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ของเฟดจะเริ่มติดลบในเดือนธ.ค.ปีนี้ และจะติดลบต่อไปจนถึงอย่างน้อยเดือนม.ค. 2565 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจำเป็นจะต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ราวระดับ 0% ภายใต้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้น สถาบันการเงินต่างๆ ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการฝากเงินส่วนเกินไว้กับธนาคารกลาง ซึ่งเท่ากับเป็นการลงโทษสถาบันการเงินที่ถือเงินสดไว้ โดยหวังที่จะกระตุ้นให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภค หนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจยุโรปแต่อย่างใด โดยทั้งญี่ปุ่นและยุโรปยังคงเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ แม้มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบก็ตาม ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อระบบธนาคาร และทำให้การดำเนินงานยุ่งยากมากขึ้นด้วย นายเคลลีกล่าวด้วยว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังคงสามารถขยายและใช้เงินงบประมาณด้านการคลังได้อย่างไม่จำกัด
