วิเคราะห์ราคาทองคำ 5 มิ.ย.63(ภาคเช้า) by YLG

โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
อาจเปิดสถานะซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงมาใกล้ 1,704-1,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,687 ดอลลาร์ต่อออนซ์) หรือ หากรับความเสี่ยงได้ไม่มากอาจเลือกชะลอการเปิดสถานะขายออกไป
แนวรับ : 1,695 1,680 1,668 แนวต้าน : 1,726 1,739 1,754
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.24 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ท่ามกลางการแข็งค่าของสกุลเงินยูโรขานรับผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป(ECB)ที่แม้จะ “คง” อัตราดอกเบี้ย แต่ประกาศ “เพิ่ม” วงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ PEPP อีก 6 แสนล้านยูโรสู่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร พร้อมขยายระยะเวลาของโครงการไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.ปี 2021 ส่งผลให้ยูโรปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.ในระหว่างวัน ส่วนดัชนีดอลลาร์ร่วงลง -0.61% จึงเป็นปัจจัยแรกที่หนุนราคาทองคำ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการเปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกินคาดถึง 1.877 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ประกอบกับตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 16.7% สู่ระดับ 4.94 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย.สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เช่นกัน ปัจจัยที่กล่าวมาหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,722.01 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี สินทรัพย์เสี่ยงยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยได้รับแรงหนุนจากมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จึงเป็นปัจจัยสกัดช่วงบวกของราคาทองคำเอาไว้ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -1.16 ตัน สำหรับวันนี้จับตาการเปิดเผยตัวเลขสำคัญในตลาดแรงงานสหรัฐ คาดการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะลดลง 8 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค.ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.5% ในเดือนพ.ค.
ปัจจัยทางเทคนิค :
แม้จะมีแรงซื้อให้ราคาดีดตัวขึ้นแต่ยังคงเห็นแรงขายกดดันอย่างต่อเนื่อง หากการดีดตัวของราคายังไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านระดับ 1,722-1,726 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ อาจทำให้เกิดแรงขายกดดันให้ปรับตัวลงสู่ระดับ 1,704-1,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เบื้องต้นประเมินการเคลื่อนไหวของราคาในแบบของการแกว่งตัวเพื่อพยายามสร้างฐานราคาและสะสมแรงซื้อ
กลยุทธ์การลงทุน :
การเข้าซื้อยังคงเน้นการเก็งกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว โดยเข้าซื้อเมื่อตลาดปรับตัวลงมาในบริเวณแนวรับ 1,704-1,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่การปิดสถานะซื้อทำกำไรอาจพิจารณาในโซน 1,726-1,739 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สถานะซื้อตัดขาดทุน 1,687 ดอลลาร์ต่อออนซ์)
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ยูโรดีดตัวขณะอีซีบีเพิ่มแผนกระตุ้น ยูโรดีดตัวสู่ระดับสูงสุดรอบ 12 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่มแผนกระตุ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ECB เพิ่มขนาดของแผนการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินจากโรคระบาด (PEPP) เป็น 1.35 ล้านล้านยูโร (1.52 ล้านล้านดอลลาร์) จาก 7.50 แสนล้านยูโร ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้น 5 แสนล้านยูโรที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ และขยายแผนดังกล่าวถึงเดือนมิ.ย.2021 เป็นอย่างเร็วที่สุด พร้อมด้วยการยืนยันว่าจะนำรายได้ไปลงทุนต่อจนถึงสิ้นปี 2022 เป็นอย่างน้อย “การดำเนินการดังกล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของ ECB ในการหนุนการฟื้นตัว” นักวิเคราะห์กล่าว “ยูโรโซนอาจจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากโควิด-19 เร็วกว่าสหรัฐและอังกฤษ” ยูโรปรับขึ้น 1.04% มาที่ 1.1349 ดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้แตะ 1.1361 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ยูโรปรับขึ้น 8 วันติดต่อกัน ดัชนีดอลลาร์ร่วงลง 0.67% มาที่ 97.675
- (+) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่า 2 ล้านเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.877 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยลดลงต่ำกว่าระดับ 2 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐได้ผ่านพ้นภาวะเลวร้ายที่สุดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.8 ล้านราย
- (+) สหรัฐเผยขาดดุลการค้าพุ่งเกินคาดในเดือนเม.ย. ขณะส่งออกต่ำสุด 10 ปี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นในเดือนเม.ย. โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สกัดการไหลเวียนของสินค้าและบริการในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกของสหรัฐดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 16.7% สู่ระดับ 4.94 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.90 หมื่นล้านดอลลาร์
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 11.93 จุด รับมุมมองศก.สดใส, ECB ออกมาตรการกระตุ้นศก. ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังจากตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 2 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.ในวันนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,281.82 จุด เพิ่มขึ้น 11.93 จุด หรือ +0.05% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,112.35 จุด ลดลง 10.52 จุด หรือ -0.34% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,615.81 จุด ลดลง 67.10 จุด หรือ -0.69%
- (+/-) “ลาการ์ด”คาดเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 8.7% ปีนี้จากพิษโควิด-19 นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มหดตัวลง 8.7% ในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆในยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี นางลาการ์ดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 5.2% ในปี 2564 และ 3.3% ในปี 2565 แม้ว่ายังคงมีความเสี่ยงในช่วงขาลง
- (+/-) ECB มีมติคงดอกเบี้ยวันนี้ แต่เพิ่มวงเงินซื้อพันธบัตรตามโครงการฉุกเฉิน 6 แสนล้านยูโร ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ แต่ได้เพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการฉุกเฉินอีก 6 แสนล้านยูโร เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ECB จัดการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ โดยที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% อย่างไรก็ดี ECB มีมติเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) อีก 6 แสนล้านยูโร สู่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร นอกจากนี้ ECB ยังได้ขยายเวลาในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ PEPP จากสิ้นปีนี้ออกไปจนถึงเดือนมิ.ย.2564
