โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
หากราคาทองคำยังไม่สามารถฝ่าแนวต้านบริเวณ 1,727-1,745 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ มีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับย่อลงมาบริเวณแนวรับ 1,702-1,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,695 1,678 1,695 แนวต้าน : 1,728 1,745 1,760
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดดิ่งลง 29.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ในระหว่างวันราคาขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,740.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐจาก ADP และ ดัชนีภาคบริการจาก ISM จะออกมาแย่กว่าคาดก็ตาม พร้อมกับร่วงลงแรงโดยได้รับแรงกดดันหลักมาจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์หลังจากที่นายริชิ ซูแนค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษจะกู้ยืมเงินมากขึ้นอย่างมากในปีงบประมาณที่จะมาถึงนี้ และมากกว่าที่ประมาณการไว้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 2.34 แสนล้านปอนด์หรือ 10.3% ของ GDP เมื่อเทียบกับประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 1.642 แสนล้านปอนด์หรือ 7.4% ของ GDP นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 1.4963% ในระหว่างการซื้อขายของวานนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังใหม่ และการคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจใกล้ปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ(Monetary policy normalization) เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สถานการณ์ดังกล่าวกดดันทองคำให้ร่วงลงแรงจนทดสอบระดับต่ำสุดของปีนี้ครั้งใหม่บริเวณ 1,702.01 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -4.74 ตัน สำหรับวันนี้จับตานายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดมีกำหนดจะแถลงเกี่ยวกับเศรษฐกิจในงานออนไลน์ที่จัดโดย Wall Street Journal รวมถึงการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคาทองย่อตัวลงมาพยายามทรงตัวเหนือระดับ 1,702-1,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคามีโอกาสฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้น แต่หากไม่สามารถฝ่าแนวต้านบริเวณ 1,727 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ แสดงให้เห็นว่าราคายังมีการดีดในระดับจำกัดและแนวโน้มยังคงเป็นขาลง ราคาอาจขยับลงต่อซึ่งหากทำระดับต่ำสุดใหม่จากวันก่อนหน้า ราคามีโอกาสทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,678 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
แนะนำให้เปิดสถานะขายเพื่อทำกำไร หากราคาทองคำขยับขึ้นไม่ผ่านแนวต้าน 1,727-1,745 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากราคาผ่าน 1,745 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทั้งนี้ หากราคาอ่อนตัวลงสามารถยืนเหนือแนวรับ 1,702-1,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ อาจปิดสถานะขายออกมาทำกำไรบางส่วน
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 121.43 จุด นลท.ขายหุ้นเทคโนฯ-วิตกบอนด์ยีลด์พุ่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงในกลุ่ม FAANG (เฟซบุ๊ก แอปเปิล แอมะซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล) รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 31,270.09 จุด ลดลง 121.43 จุด หรือ -0.39% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,819.72 จุด ลดลง 50.57 จุด หรือ -1.31% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,997.75 จุด ลดลง 361.04 จุด หรือ -2.70%
- (+) ISM เผยดัชนีภาคบริการสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนก.พ. สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.3 ในเดือนก.พ. จากระดับ 58.7 ในเดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 58.7
- (+) ADP เผยการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนก.พ. ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 117,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง
- (-) ดัชนี PMI ภาคบริการสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบกว่า 6 ปีในเดือนก.พ. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.8 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2557 จากระดับ 58.3 ในเดือนม.ค.
- (-) คาดศุกร์นี้สหรัฐรายงานตัวเลขจ้างงานเพิ่ม 210,000 ตำแหน่ง หลังวูบในเดือนม.ค. นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 49,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.3% ในเดือนม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 6.7%
- (-) ดอลล์แข็งค่ารับบอนด์ยีลด์พุ่ง จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ 90.9464 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.96 เยน จากระดับ 106.73 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9196 ฟรังก์ จากระดับ 0.9140 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2636 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2614 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2065 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2085 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3955 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3965 ดอลลาร์
- (-) ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อย นลท.กลับมากังวัลบอนด์ยีลด์พุ่ง ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นอีกครั้งได้ส่งผลกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 413.42 จุด เพิ่มขึ้น 0.19 จุด หรือ +0.05% ดัชนี CAC 40 ปิดที่ 5,830.06 จุด เพิ่มขึ้น 20.33 จุด หรือ +0.35%, ดัชนี DAX ปิดที่ 14,080.03 จุด เพิ่มขึ้น 40.23 จุด หรือ +0.29% และดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,675.47 จุด เพิ่มขึ้น 61.72 จุด หรือ +0.93% ตลาดหุ้นยุโรปปิดแทบไม่ขยับหลังเปิดตลาดพุ่งขึ้น โดยนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคออกมา เนื่องจากหุ้นกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของพันธบัตร และมักถูกเทขายเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยุโรปปรับตัวขึ้นในวันพุธ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวในยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนบางส่วนจากผลสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิตที่บ่งชี้ว่า ความหวังที่ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกตินั้นได้หนุนความเชื่อมั่นเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี