วิเคราะห์ราคาทองคำ 4 มี.ค.63(ภาคเช้า) by YLG

โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
หากราคาอ่อนตัวลงเข้าใกล้โซน 1,635-1,624 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จึงเข้าซื้อ หรือ หากราคาทองคำไม่สามารถยืน 1,656-1,663 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ให้แบ่งทองคำออกขายเพื่อทำกำไรบางส่วน แต่หากผ่านได้ให้ชะลอการขายออกไป
แนวรับ : 1,635 1,624 1,612 แนวต้าน : 1,663 1,677 1,689
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดทะยานขึ้น 46.16 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงหนุนอย่างมาก จากการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในการปรับ “ลด” อัตราดอกเบี้ยเป็นการ “ฉุกเฉิน” นอกรอบการประชุมตามปกติ โดยปรับลดลงถึง 50 bps สู่ระดับ 1.00-1.25% เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ร่วงแตะระดับต่ำสุดรอบเกือบ 8 สัปดาห์ที่ 96.979 ขณะที่Dow Jones ปิดร่วงลง 785.91 จุด หรือ -2.94%, S&P500 ปิด -2.81% และ Nasdaq ปิด -2.99% เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ยฉุกเฉินนั้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจาก Covid-19 ที่รุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ประกอบกับแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่ม G7 ไร้มาตรการรับมือผลกระทบ Covid-19 ที่เป็นรูปธรรมจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันสินทรัพย์เสี่ยง จนกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติม สถานการณ์ดังกล่าวหนุนให้ราคาทองคำทะยานขึ้นเกือบ +3% วานนี้ และปรับตัวขึ้นต่อไปแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,652 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างการซื้อขายเช้านี้ในตลาดเอเชีย ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +3.51 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการบริการ, ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP และ Beige Book
ปัจจัยทางเทคนิค :
ช่วง 3 วันที่ทำการผ่านมา ราคาทองคำแกว่งตัวผันผวน แม้ว่าจะมีแรงขายกดดันให้ราคาทิ้งตัวลง แต่ราคาก็สามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้ จนเคลื่อนไหวในระดับสูง ดังนั้นในระยะสั้นหากราคาทองคำทดสอบแนวต้านที่ 1,656-1,663 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถผ่านได้อาจเกิดแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมา อย่างไรก็ตามหากราคายังสามารถเคลื่อนไหวเหนือโซนแนวรับระยะสั้นอยู่ที่ 1,635-1,624 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ประเมินว่าเป็นการอ่อนตัวลงเพื่อสะสมกำลังในช่วงสั้น
กลยุทธ์การลงทุน :
เปิดสถานะซื้อในบริเวณ 1,635-1,624 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ลดพอร์ตสถานะซื้อหากราคาหลุด 1,624 ดอลลาร์ต่อออนซ์) หากราคาดีดตัวขึ้นให้พิจารณาโซน 1,656-1,663 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดปิดสถานะทำกำไร แต่หากผ่านได้ให้ชะลอการขายออกไป
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก หลังเฟดหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 0.50% เมื่อวานนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ. ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.23 เยน จากระดับ 107.84 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9570 ฟรังก์ จากระดับ 0.9572 ฟรังก์ ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1175 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1161 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2811 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2776 ดอลลาร์
- (+) เฟดสร้างเซอร์ไพรส์หั่นดอกเบี้ย 0.50% วันนี้ รับมือ”โควิด-19″ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เมื่อวานนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อวานนี้ มีขึ้นก่อนการประชุมตามปกติของเฟดที่มีกำหนดในวันที่ 17-18 มี.ค. นอกจากนี้ การที่เฟดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เมื่อวานนี้ ยังถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมของเฟดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551 ขณะที่เกิดวิกฤตการเงินในขณะนั้นขณะเดียวกัน เฟดออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ ระบุว่า โคโรนาไวรัสกำลังสร้างความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ “ท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านี้ และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของเฟดในการรักษาเสถียรภาพของราคา และการจ้างงานเต็มศักยภาพ FOMC จึงตัดสินใจปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น” แถลงการณ์ระบุ
- (+) “พาวเวล”ชี้เฟดหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉินวันนี้ หลังเห็น”โควิด-19″กระทบเศรษฐกิจสหรัฐ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการแถลงข่าววันนี้ว่า เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน หลังจากที่เฟดมองเห็นว่าโคโรนาไวรัสกำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ นายพาวเวลยังระบุว่า เฟดไม่ได้เตรียมใช้เครื่องมืออื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
- (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 785.91 จุด วิตกเฟดหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉินบ่งชี้ผลกระทบโควิด-19 หนักกว่าคาด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 0.50% เมื่อวานนี้ อาจสะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนทำให้เฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยก่อนที่การประชุมตามกำหนดการจะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,917.41 จุด ร่วงลง 785.91 จุด หรือ -2.94% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,003.37 จุด ลดลง 86.86 จุด หรือ -2.81% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,684.09 จุด ลดลง 268.08 จุด หรือ -2.99%
- (+) G7 ออกแถลงการณ์พร้อมรับมือ”โควิด-19″ แต่ไร้มาตรการชัดเจน รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G7 จัดประชุมทางไกลในวันนี้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ของ G7 ไม่ได้ระบุถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว
- (+) “ทรัมป์”ยังไม่พอใจ กดดันเฟดลดดอกเบี้ยต่อไปอีก แม้หั่นดอกเบี้ยนอกรอบ 0.5% วันนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก แม้มีการลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในวันนี้ “เฟดจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เฟดจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ หรือคู่แข่งของเรา โดยเราไม่ได้รับการแข่งขันที่เท่าเทียมกับประเทศอื่น ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับสหรัฐ และในที่สุดถึงเวลาแล้วที่เฟดจะต้องเป็นผู้นำ โดยผ่อนคลายนโยบายมากขึ้น และลดดอกเบี้ยมากขึ้น”
