วิเคราะห์ราคาทองคำ 20 ก.พ.63(ภาคเช้า) by YLG

โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
แม้ว่าทิศทางราคาจะเป็นบวกแต่ราคาปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก จึงเน้นซื้อขายทำกำไรระยะสั้น โดยเปิดสถานะซื้อหากราคาสามารถยืนเหนือ 1,603-1,599 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ให้ทยอยขายทำกำไรหากราคายังไม่ยืนเหนือโซน 1,613-1,616 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,593 1,582 1,571 แนวต้าน : 1,611 1,623 1,635
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปรับตัวขึ้นต่ออีก 9.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ในระหว่างวันราคาจะอ่อนตัวลงมาบ้าง โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไรและการแข็งค่าของดอลลาร์ ท่ามกลางการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีเกินคาด อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI), การอนุญาตก่อสร้าง และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ประกอบกับรายงานประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประจำเดือนม.ค.ยังคงสะท้อนให้เห็นว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ สถานการณ์ดังกล่าวหนุนให้ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีจนกดดันทองคำ นอกจากนี้ทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากดัชนี Dow Jones ที่ปิดบวกกว่า 100 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ทำนิวไฮขานรับความหวังจีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีกด้วย อย่างไรก็ดี ราคาทองคำสามารถทรงตัวรักษาระดับเหนือ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนยังมองว่าทองคำช่วยป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้ ด้าน SPDR ถือครองทองคำเพิ่มอีก +1.76 ตันสู่ ระดับ 931.60 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดลเฟีย, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จาก CB
ปัจจัยทางเทคนิค :
หลังจากช่วงที่ผ่านมาราคาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากวันนี้ราคาทองคำยังไม่สามารถยืนเหนือโซนแนวต้าน 1,613-1,616 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปี 2020 และระดับสูงสุดของเดือนมี.ค.ปี 2013 อาจส่งผลให้แรงซื้อยังคงถูกจำกัด สำหรับวันนี้ประเมินแนวรับระยะสั้นในโซน 1,603-1,599 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนไม่อยู่จะแนวรับถัดไปในบริเวณ 1,589 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
การเข้าซื้อยังคงเน้นการทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว โดยเข้าซื้อเฉพาะเมื่อตลาดปรับตัวลงมาในบริเวณแนวรับ 1,603-1,599 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,589 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ขณะที่การแบ่งขายทำกำไรอาจพิจารณาในโซน 1,613-1,616 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ตลาดบอนด์สหรัฐเกิด inverted yield curve วันที่ 2 ส่งสัญญาณศก.ถดถอย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากเกินคาด อย่างไรก็ดี ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือน อยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- (+) ปธ.เฟดมินเนอาโพลิสคาดเฟดตรึงดบ.ถึงกลางปีก่อนปรับลดลง ขณะโควิด-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสหรัฐ นายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินเนอาโพลิส กล่าวว่า เฟดมีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยจนถึงกลางปีนี้ และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้น ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ “ถ้าให้ผมคาดเดา ผมจะเดาว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อไปอีก 3-6 เดือนข้างหน้า หรืออาจยาวนานกว่านั้น และต่อไปเฟดก็จะปรับลดดอกเบี้ย เพราะเรากำลังเข้าใกล้ระดับที่เป็นกลางในขณะนี้ ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่อาจกระทบเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” นายแคชแครีกล่าว
- (-) สหรัฐเผยดัชนี PPI พุ่ง 0.5% ในเดือนม.ค. สูงสุดรอบกว่า 1 ปี กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2561 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค.
- (-) สหรัฐเผยตัวเลขเริ่มต้นสร้างบ้านลดลงน้อยกว่าคาดในเดือนม.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 3.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.567 ล้านยูนิต จากระดับ 1.626 ล้านยูนิตในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2549 นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านจะลดลงสู่ระดับ 1.425 ล้านยูนิตในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 21.4% ในเดือนม.ค.
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 115.84 จุด รับความหวังจีนออกมาตรการกระตุ้นศก. ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยได้แรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า จีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวอาจรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ในวันนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์ปิด 29,348.03 จุด เพิ่มขึ้น 115.84 จุด หรือ +0.40% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,386.15 จุด เพิ่มขึ้น 15.86 จุด หรือ +0.47% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,817.18 จุด เพิ่มขึ้น 84.44 จุด หรือ +0.87%
- (+/-) เฟดเผยรายงานประชุมเดือนม.ค.ชี้กรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 28-29 ม.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และนโยบายการเงินในปัจจุบันก็มีความเหมาะสมที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รายงานการประชุมเฟดซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธตามเวลาสหรัฐ ระบุว่า แม้ว่าการลงทุนในภาคธุรกิจยังคงอ่อนแอ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนความเสี่ยงต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในขณะนี้ มีน้อยกว่าในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ กรรมการเฟดมองว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี ขณะที่การจ้างงานมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง พร้อมกับคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% อย่างไรก็ดี รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดได้แสดงความกังวลในระหว่างการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในจีน รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม รายงานการประชุมเฟดไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักในประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
