โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
ซื้อขายด้วยความระมัดระวัง โดยอาจเสี่ยงซื้อหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงมาไม่หลุดแนวรับ 1,761 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยหากราคาทองคำไม่หลุดแนวรับราคาทองคำจะพยายามปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน
แนวรับ : 1,761 1,748 1,734 แนวต้าน : 1,790 1,806 1,820
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดทะยานขึ้นอีก 12.35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำพุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์บริเวณ 1,783.67 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและรัสเซีย ล่าสุดรัสเซียจะประกาศขับนักการทูตสหรัฐจำนวน 10 คนออกจากรัสเซียเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐก็ตึงเครียดต่อเนื่องเช่นกัน หลังจากผู้นำสหรัฐและญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความวิตกกังวลในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีน อาทิ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และน่านน้ำในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ดังกล่าวช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐาะสินทรัพย์ปลอดภัย ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปียังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ซึ่งนอกจากจะช่วยหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยแล้วนั้น ยังกดดันดัชนีดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง แตะระดับ 91.486 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.อีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น จนปิดตลาดในรายสัปดาห์ที่ผ่านมาในแดนบวกเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน และเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนธ.ค. อย่างไรก็ดี กองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -3.2 ตัน สู่ระดับ 1,019.66 ตัน จึงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สกัดช่วงบวกของราคาทองคำเอาไว้ สำหรับวันนี้ไม่มีกำหนดการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ แต่แนะนำติดตามการเคลื่อนไหวของดัชนีดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีเพื่อใช้ชี้นำทิศทางราคาทองคำ
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือโซน 1,783 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ อาจทำให้เกิดการอ่อนตัวลงของราคา แต่หากสามารถยืนเหนือโซนแนวรับ 1,761 ดอลลาร์ต่อได้ก็จะเห็นการดีดตัวขึ้น โดยยังมีโอกาสที่จะราคาทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,783-1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
ดูบริเวณ 1,761 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่หลุดเสี่ยงเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น เพื่อขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวหรือบริเวณแนวต้าน 1,783-1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาหลุดแนวรับแรกให้รอดูบริเวณแนวรับถัดไปที่ 1,748 ดอลลาร์ต่อออนซ์พร้อมลดสถานะซื้อลงหากราคาหลุดแนวรับดังกล่าว
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) จีนเตือนสหรัฐ-ญี่ปุ่นหยุดก้าวก่ายกิจการภายในของจีน จีนออกโรงเตือนสหรัฐและญี่ปุ่นให้หยุดก้าวก่ายกิจการภายในของจีนและหยุดทำลายผลประโยชน์ของจีนในทันที “เราขอเตือนสหรัฐและญี่ปุ่นให้ตระหนักถึงความกังวลของจีนอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามหลักการจีนเดียว รวมทั้งหยุดก้าวก่ายกิจการภายในของจีนและหยุดทำลายผลประโยชน์ของจีนในทันที” โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนระบุในแถลงการณ์ “จีนจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของชาติ” ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ผู้นำสหรัฐและญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยแสดงความวิตกกังวลในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีน เช่น เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และน่านน้ำในทะเลจีนใต้
- (+) รัสเซียเตรียมขับนักการทูตสหรัฐ ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตร นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียจะประกาศขับนักการทูตสหรัฐจำนวน 10 คนออกจากรัสเซียเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ “เราจะทำการตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน โดยจะให้นักการทูตสหรัฐ 10 คนเดินทางออกจากประเทศ” นายลาฟรอฟกล่าว นายลาฟรอฟยังระบุว่า รัสเซียสามารถรับมือกับการคว่ำบาตรของสหรัฐ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
- (+) ดอลล์อ่อนค่าตามทิศทางบอนด์ยีลด์ชะลอตัวลง ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลง ซึ่งลดความน่าดึงดูดใจของดอลลาร์ และได้บดบังปัจจัยบวกจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.06% สู่ระดับ 91.5590 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 108.79 เยน จากระดับ 108.65 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9198 ฟรังก์ จากระดับ 0.9217 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2501 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2536 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1978 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1975 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3833 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3791 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7732 ดอลลาร์สหรัฐ
- (+) เฟดเผยธุรกิจราว 2 แสนแห่งในสหรัฐปิดกิจการถาวรเซ่นพิษโควิด-19 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลวิจัยบ่งชี้ว่า ธุรกิจราว 200,000 แห่งในสหรัฐปิดกิจการลงอย่างถาวรในปีแรกของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เฟดระบุว่า ร้านทำผม, ร้านทำเล็บ และธุรกิจให้บริการส่วนบุคคลอื่นๆ ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยกิจการดังกล่าวจำนวนมากกว่า 100,000 แห่งได้ปิดกิจการลงอย่างถาวรในช่วงเดือนมี.ค. 2563 ถึงเดือนก.พ. 2564
- (+) ผลสำรวจม.มิชิแกนชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐพุ่งนิวไฮรอบ 1 ปี ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 86.5 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 84.9 ในเดือนมี.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 89.6
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 164.68 จุด ขานรับข้อมูลศก.-ผลประกอบการแกร่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกทำนิวไฮเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดทำนิวไฮด้วยเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจและผลประกอบการธนาคารที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,200.67 จุด เพิ่มขึ้น 164.68 จุด หรือ +0.48%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,185.47 จุด เพิ่มขึ้น 15.05 จุด หรือ +0.36% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,052.34 จุด เพิ่มขึ้น 13.58 จุด หรือ +0.10%
- (-) สหรัฐเผยตัวเลขเริ่มต้นสร้างบ้านสูงกว่าคาดในเดือนมี.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 19.4% ในเดือนมี.ค. สู่ระดับ 1.739 ล้านยูนิต โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.613 ล้านยูนิต
- (+/-) เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มโต 6.5% ปีนี้ โป๋อ่าว ฟอรั่ม ฟอร์ เอเชีย (Boao Forum for Asia: BFA) รายงานในวันนี้ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียจะแตะระดับ 6.5% เป็นอย่างน้อยในปี 2564 หลังจากที่หดตัว 1.7% ในปี 2563 รายงานหัวข้อ “Asian Economic Outlook and Integration Progress” ของ BFA ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจเอเชียใต้จะขยายตัว 9.7% ในปีนี้ ซึ่งนับว่าเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกจะขยายตัว 6.5% รายงานระบุว่ามีหลายปัจจัยที่ผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งรวมถึงการควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการกลับมาทำงานและเดินสายการผลิตอย่างราบรื่นของจีนและเกาหลีใต้