วิเคราะห์ราคาทองคำ 15 พ.ค.63 (ภาคบ่าย) by YLG

โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
แนวรับ : 1,720 1,709 1,697
แนวต้าน : 1,739 1,747 1,761
ข่าวสารสำคัญเพื่อประกอบการลงทุน (เพิ่มเติมช่วงเย็น)
สรุป ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของภาคเอกชนบ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจระยะใกล้ที่อ่อนแออยู่แล้วของสหรัฐ มีแนวโน้มมืดมนมากขึ้น ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะยังไม่ใกล้ฟื้นคืนจากความสูญเสียในปีนี้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนเกือบ 4.4 ล้านคนติดเชื้อทั่วโลก และอัตราการว่างงานสหรัฐทะยานสู่ 14.7% ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสูงเหนือระดับประวัติการณ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ 10.8% ในเดือนพ.ย.ปี 1982 ความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ กระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้น ยังมีแรงขายสลับออกมา เนื่องจาก ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และมีแนวโน้มปรับขึ้นรายสัปดาห์ โดยดอลลาร์ยังสามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ เนื่องจากนักลงทุนปรับเพิ่ม สถานะการถือครองดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยเช่นกัน จึงเป็นปัจจัยสกัดช่วงบวกของราคาทองคำไว้ สำหรับคืนนี้ แนะนำจับตาการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ยอดค้าปลีก เบื้องต้นราคาทองคำทองคำเคลื่อนไหวทรงตัวในระดับสูง แนะนำให้นักลงทุนรอดูว่าราคาจะผ่านแนวต้านบริเวณ 1,739-1,747 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้หรือไม่ โดยอาจพิจารณาแบ่งทองคำออกขายทำกำไรบางส่วนหากราคาทองคำไม่ผ่านแนวต้านดังกล่าว เพื่อรอเข้าซื้อเก็งกำไรจากการดีดตัวขึ้นหากการอ่อนตัวลงสามารถยืนเหนือโซน 1,720-1,709 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
แนวโน้ม Gold Spot: หากราคาไม่สามารถทะลุแนวต้านโซน 1,739-1,747 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ อาจเห็นการย่อตัวลงไปบริเวณแนวรับ 1,726-1,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยหากราคาหลุดแนวรับดังกล่าว จะเห็นแรงขายออกมาโดยประเมินแนวรับถัดไปที่ 1,709 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์ Gold Futures:
Long Position นักลงทุนสามารถปิดสถานะทำกำไรในบริเวณแนวต้าน 1,739-1,747 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาทองคำได้ปรับลงหลุดแนวรับบริเวณ 1,709 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นักลงทุนควรปรับลดการถือสถานะเพื่อลดความเสี่ยง
Short Position หากราคาไม่สามารถยืนอยู่เหนือบริเวณ 1,739 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ นักลงทุนสามารถรอปิดสถานะทำกำไรที่แนวรับบริเวณ 1,720-1,709 ดอลลาร์ต่อออนซ์
Open New หากราคาไม่สามารถขึ้นไปยืนเหนือบริเวณแนวต้าน 1,739-1,747 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนะนำเสี่ยงเปิดสถานะขายทำกำไรระยะสั้น เพื่อรอปิดสถานะขายหากราคาอ่อนตัวลง และรอเข้าซื้อคืนในโซนแนวรับ 1,720-1,709 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวสารประกอบการลงทุน
- (+) โพลล์ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐระยะใกล้อ่อนแอมากขึ้นตามด้วยการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แนวโน้มเศรษฐกิจระยะใกล้ที่อ่อนแออยู่แล้วของสหรัฐมืดมนมากขึ้นในผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของภาคเอกชน และในขณะที่ยังคงคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวสำหรับครึ่งหลัง แต่เศรษฐกิจสหรัฐจะยังไม่ใกล้ฟื้นคืนจากความสูญเสียในปีนี้ การระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนเกือบ 4.4 ล้านคนติดเชื้อทั่วโลก และอัตราการว่างงานสหรัฐทะยานสู่ 14.7% ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสูงเหนือระดับประวัติการณ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ 10.8% ในเดือนพ.ย.ปี 1982 อย่างมาก ข้อมูลจากการสำรวจเมื่อวันที่ 11-14 พ.ค. ระบุว่า คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สหรัฐจะหดตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนที่ 35.0% ในไตรมาสนี้ หลังหดตัว 4.8% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอิงตามการทบทวนปรับตามฤดูกาลเมื่อเทียบรายปี นั่นซบเซากว่าการหดตัวเฉลี่ย 30.0% ที่คาดไว้ในเดือนก่อน และในกรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจจะหดตัว 41.5% ในไตรมาสนี้
- (+) หุ้นจีนปรับลงจากวิตกความตึงเครียดจีน-สหรัฐ หุ้นจีนปรับตัวลงในวันนี้ โดยในช่วงแรกตลาดปรับตัวขึ้นหลังจากที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ ขณะที่มีการยกเลิกการล็อกดาวน์จากโควิด-19 อย่างช้าๆ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และคำเตือนเกี่ยวกับการทวีความรุนแรงของความตึงเครียดสหรัฐ-จีน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดที่ 2,868.46 ลบ 1.88 จุดหรือ -0.07% ดัชนี CSI300 ปิดที่ 3,912.82 ลบ 12.40 จุดหรือ -0.32% ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงในวันนี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนปรับขึ้น 3.9% ในเดือนเม.ย.จากปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับคาดการณ์ถึงการปรับขึ้น 1.5% อย่างไรก็ตาม การบริโภคยังคงอ่อนแอ ในขณะที่ยอดค้าปลีกลดลง 7.5% ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐส่งสัญญาณความเสื่อมถอยเพิ่มเติมของความสัมพันธ์ของเขากับจีนประเด็นโควิด-19 โดยระบุว่า เขาไม่สนใจที่จะสนทนากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนในขณะนี้ และยิ่งกว่านั้นบ่งชี้ว่า เขาอาจแม้แต่ตัดสัมพันธ์กับจีน
- (-) ดอลลาร์มีแนวโน้มปรับขึ้นรายสัปดาห์ ดอลลาร์อ่อนลงจากระดับสูงสุดรอบ 3 สัปดาห์ในวันนี้ แต่มีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อยรายสัปดาห์ ขณะที่ความตึงเครียดจีน-สหรัฐที่เพิ่มขึ้นและความวิตกเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้นักลงทุนวิตก ความหวังที่เลือนลางลงสำหรับการฟื้นตัวทั่วโลกโดยเร็วจากโควิด-19 ทำให้ดอลลาร์ออสเตรเลียที่อ่อนไหวต่อการค้ามีแนวโน้มสิ้นสุดการปรับขึ้น 5 สัปดาห์ด้วยการอ่อนลง 1% ซึ่งเป็นการปรับลงรายสัปดาห์ครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนแอในการซื้อขายที่ตลาดเอเชียที่ 0.6462 ดอลลาร์ โดยอยู่ต่ำกว่าระยะกลางของช่วงที่ปรับตัวตลอดเดือนอยู่เล็กน้อย ดอลลาร์นิวซีแลนด์พ้นจากระดับต่ำสุดรอบ 3 สัปดาห์ของเมื่อวานนี้ที่ 0.5958 ดอลลาร์ แต่ถูกถ่วงโดยข่าวอัตราดอกเบี้ยติดลบในปีหน้า ดอลลาร์นิวซีแลนด์เผชิญความยากลำบากในการปรับตัวผ่าน 60 เซนต์ และอยู่ที่ 0.5996 ดอลลาร์ ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ประสบความยากลำบากเช่นเดียวกับเงินสกุลหลักอื่นๆสำหรับการได้รับแรงผลักดันในเดือนพ.ค. ขณะที่นักลงทุนและเจ้าหน้าที่พิจารณาทัศนะบวกเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการควบคุม เทียบกับความเสี่ยงของการติดเชื้อมากขึ้นและระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ “ตลาดอยู่ในภาวะรอดูในขณะนี้ โดยจะรอดูว่า ความตึงเครียดสหรัฐ-จีนจะรุนแรงขึ้นหรือไม่” นักวิเคราะห์กล่าว
- (-) ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดแดนบวก นลท.จับตาข้อมูลเศรษฐกิจและการเปิดภาคธุรกิจ ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดวันนี้ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การเปิดภาคธุรกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ของเยอรมนีและสหภาพยุโรป ดัชนี European Stoxx 600 บวก 1.5% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเปิดวันนี้ที่ 4,314.97 จุด เพิ่มขึ้น 41.84 จุด, +0.98% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีเปิดวันนี้ที่ 10,470.85 จุด เพิ่มขึ้น 133.83 จุด, +1.29% ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเยอรมนีอยู่ที่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ภายหลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
