GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

ทองคำ VS ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำไมถึงสวนทางกัน? EP.3 Bretton Woods System

0 936

- Advertisement -

มาถึงตอนที่ 3 กันแล้วนะครับ ต้องยอมรับว่ายาวกว่าที่คิดไว้สำหรับการตอบคำถามที่ว่าทำไมราคาทองคำกับดอลลาร์สหรัฐฯถึงสวนทางกัน ถึงขนาดต้องไปขุดคุ้ยกันเป็นการใหญ่เลยทีเดียว(ฮา) ครั้นจะยกคำตอบมาเพียงประโยคสั้นๆ แน่นอนว่าจะต้องเจอคำถามต่อมายาวเป็นหางว่าวแน่แท้ นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องย้อนเวลากันไปไกลเลยทีเดียว คราวนี้เราจะมาพูดถึงตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ที่ผมได้พูดลอยๆไว้ทั้ง 2 บทความที่ผ่านมานั่นก็คือ Bretton Woods ว่าคืออะไรกันแน่

ตามสูตรครับ…. ความเดิมตอนที่แล้วเราได้พูดถึงการล่มสลายของมาตรฐานทองคำพระเอกในภาคที่ผ่านมา ว่าเป็นผลมาจากการแข่งขันกันลดค่าเงินของประเทศตัวเองเพื่อให้ส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงการเกิดสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งที่ส่งผลให้เงินกระดาษเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ไม่สมดุลกับปริมาณทองคำ จนสุดท้ายระบบก็ถูกยกเลิกไปดื้อๆและเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ขั้วอำนาจได้เปลี่ยนจากประเทศในฝั่งยุโรปมาอยู่กับสหรัฐอเมริกาจวบจนถึงทุกวันนี้ สาเหตุก็เพราะประเทสในแถบยุโรปได้รับความบอบช้ำจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง รวมถึงยังเป็นหนี้ค่าอาวุธยุทโธปกรณ์กับสหรัฐฯที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 น้อยกว่ายุโรปนั่นเอง(ซึ่งสหรัฐฯได้ขอให้ประเทศเหล่านั้นชำระหนี้ด้วยทองคำแทนเงินกระดาษที่มีค่าต่ำเตี้ยไปแล้ว)

เมื่อสงครามโลกจบ ระบบการเงินที่เลื่อนลอยทำให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความเอื่อยเฉื่อย ทำให้หลายประเทศเริ่มคิดว่าต้องมีการวางรากฐานระบบการเงินกันอีกรอบเมื่อปี ค.ศ. 1944 ได้มีการจัดประชุมเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวที่ เมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทศสหรัฐฯอเมริกา ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์  ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเศรษฐศาสตร์ Keynsians เข้าร่วมด้วยแต่น่าเสียดายที่ข้อเสนอของเขาไม่ได้ถูกนำไปใช้ และไปรับข้อเสนอของนายแฮร์รี่ ไวท์และนำมาปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดซึ่งเป็นที่มาของระบบ Bretton Woods ตามชื่อเมืองที่มีการประชุมนั่นเอง

รายละเอียดของข้อตกลงในระบบนี้จะคล้ายกับระบบมาตรฐานทองคำครับ โดย

- Advertisement -

  1. ยังคงให้ทุกประเทศยกเว้นสหรัฐฯต้องผูกค่าเงินไว้กับทองคำหรือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงมีการจัดกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF(International Monetary Fund) ขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กร ควบคุมและบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน โดยอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมของมาตรฐานทองคำนั้นต้องให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่มาถึงข้อตกลงนี้แต่ละประเทศสามารถปรับเปลี่ยนค่าเงินได้ 10% หากมากกว่านั้นต้องแจ้งและได้รับความยินยอมจาก IMF สาเหตุที่ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนสามารถเคลื่อนไหวได้เพื่อปิดข้อเสียของระบบมาตรฐานทองคำเดิมนั่นเอง ซึ่งอาจทำให้หลายๆประเทศแข่งกันลดค่าเงินของตัวเองอีกครั้ง ดังนั้น ก็เลยปล่อยให้ลดได้แต่มีการควบคุมจะดีกว่า
  2. ส่วนตัวเงินดอลลาร์สหรัฐฯเองนั้น เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือกับประเทศอื่นๆที่นำค่าเงินตนเองมาผูกด้วยนั้น ก็ได้มีข้อตกลงที่สำคัญอีกข้อหนึ่งนั่นคือ “ทุกประเทศสามารถนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ตนเองมีมาเปลี่ยนให้เป็นทองคำกับสหรัฐฯได้ในอัตรา 35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 ออนซ์” ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้แหละครับ ที่เป็นต้นเหตุให้ราคาทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐฯสวนทางกันในปัจจุบันนี้

โดยผลของข้อตกลงที่เกิดขึ้นและส่งผลมาถึงปัจจุบันอย่างแรกเลยก็คือค่าเงินดอลลาร์จะกลายมาเป็นสื่อกลางในการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นไปได้ด้วยดีครับ เพราะในตอนนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งรวมถึงมีทองคำมากที่สุดในโลก และจากการใช้ระบบดังกล่าวนี้เองส่งผลให้สหรัฐฯมีบทบาทอย่างมากต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของโลกจวบจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อระบบ Bretton Woods มันดีเสียขนาดนี้ ทำไมมันถึงไม่สามารถดำรงอยู่มาถึงปัจจุบันได้หล่ะ? ในตอนหน้าเราจะได้รู้กันครับถึงสาเหตุของการล่มสลายของระบบ Bretton Woods รวมถึงตอบคำถามที่เกี่ยวกับทองคำและดอลลาร์อย่างสมบูรณ์ครับ รอกันนิดนึงนะคร้าบบบบ

- Advertisement -

Comments
Loading...